ชาวเน็ตคิดเห็นกับดราม่า “ปังชา” อย่างไร?

ปังชา
ภาพเฟซบุ๊ก : PangchaThaitea

“ไวซ์ไซท์” เผยอินไซต์ชาวเน็ตจากกรณีดราม่า “ปังชา” พบคนพูดถึงมากกว่า 19,000 ข้อความ ส่วนเอ็นเกจเมนต์ทะลุ 2 ล้าน ในเวลาเพียง 5 วัน

วันที่ 1 กันยายน 2566 บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Wisesight ผู้ให้บริการเครื่องมือและการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการพูดถึงบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ “ปังชา” หลังร้านอาหารชื่อดังแจ้งว่าทางร้านได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้ากับเมนู “ปังชา” และมีข่าวการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์กับร้านอาหารที่ใช้คำว่า “ปังชา” กว่า 102 ล้านบาท จนทำให้แฮชแท็ก #ปังชา พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทันที

จากการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค. 2566 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้มากกว่า 19,000 ข้อความ และยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเวลาเพียง 5 วัน มีเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 2 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยในวันที่ 31 ส.ค. เพียงวันเดียว มีการพูดถึงสูงถึง 1.2 ล้านเอ็นเกจเมนต์

โดยการแสดงความเห็นส่วนใหญ่เกิดขึ้นบน Facebook มากที่สุด (63.48%) ตามมาด้วย Twitter (29.78%) Youtube (5.03%) Instagram (0.45%) และอื่น ๆ (1.26%)

ทั้งนี้ ความเห็นของชาวเน็ตแบ่งเป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลบน ZOCIAL EYE สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.เสียงวิพากษ์วิจารณ์การฟ้องร้อง

ชาวเน็ตตั้งคำถามเกี่ยวกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าเมนู “ปังชา” บ้างก็มองว่าไม่เป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก และเปรียบเทียบกับธุรกิจใหญ่อื่น ๆ ที่ชื่อแบรนด์ถูกใช้เป็นคำเรียกสามัญไปแล้ว แต่ไม่มีการฟ้องร้องใด ๆ บ้างก็แสดงออกว่าจะเลิกสนับสนุน เพราะรู้สึกไม่พอใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

Advertisment

อีกทั้งยังมีหลายโพสต์ที่ออกมาให้ความรู้เรื่องกฎหมายดังกล่าวว่ามีความซับซ้อน จึงไม่แปลกที่คนไทยจะสับสน ซึ่งปังชาได้รับความคุ้มครองในด้านเครื่องหมายการค้า ส่วนคำว่า “ปังชา” (Pang Cha) ไม่สามารถจดทะเบียนได้เนื่องจากเป็นคำสามัญ และถ้าองค์กรหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะสามารถลดข้อโต้แย้งบนโลกโซเชียลได้

2.กระแสตีกลับ “โลโก้ลอกเลียนแบบ” และความสับสนในแบรนด์

จากกระแสที่เกิดขึ้น ได้มีนักออกแบบออกมาพูดถึงโลโก้ประกอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคล้ายคลึงกับลายเส้นหญิงชุดไทยนั่งพับเพียบ เกล้าผมมวยพันอก ทัดดอกไม้ ใส่สร้อยคอ ยื่นมือขวาเหยียดยาว ที่อยู่บนปฏิทินของอีกแบรนด์หนึ่งในปี 2550 ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับ (Originality) และแบรนด์ก็ถูกมองว่าได้ไปลอกเลียนแบบงานของคนอื่นมาเช่นกัน

Advertisment

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความสับสนในตัวแบรนด์ระหว่างร้าน “ลูกไก่ทอง” ที่กำลังเป็นที่พูดถึง และร้าน “ไก่ทองออริจินัล” ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว เพราะชื่อคล้ายคลึงกัน จนต้องมีประกาศออกมาว่าไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดสินใจและการดำเนินการใด ๆ ทางธุรกิจทั้งสิ้น

3.ความหิวไม่เข้าใครออกใคร

แม้ว่าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับ “ปังชา” กันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีชาวเน็ตบางส่วนที่โพสต์ภาพปังชา รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ชาไทย น้ำแข็งไส และขนมปังปิ้ง เป็นต้น