แกร็บ เขย่าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ 8.6 หมื่นล้าน ตอบโจทย์ 4 มิติ

วรฉัตร ลักขณาโรจน์

“แกร็บฟู้ด” เขย่าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ 8.6 หมื่นล้าน โฟกัส 3 กลยุทธ์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค 5.0 พัฒนานวัตกรรมและบริการ ครอบคลุม 4 มิติ ยกระดับแพลตฟอร์มสู่ “ผู้ให้บริการความอร่อยแบบครบวงจร”

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแกร็บ (Grab) กล่าวว่าบริษัทเดินหน้ายกระดับบริการ “แกร็บฟู้ด” จาก “แพลตฟอร์มสั่งอาหาร” สู่การเป็น “ผู้ส่งมอบประสบการณ์ความอร่อยครบวงจร” ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำเสนอฟีเจอร์ และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการใน 4 มิติ (4S) ครอบคลุมทั้งด้านเวลา ความสะดวก ราคา และสิ่งแวดล้อม

โดยในปีนี้แกร็บฟู้ดจะโฟกัส 3 กลยุทธ์หลักคือ

  1. นำเสนอบริการที่มีคุณภาพ และหลากหลาย
  2. สร้างฐานสมาชิกและความภักดีในการใช้งาน
  3. เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้า

“ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่มูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาทในไทย ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังอยู่ในภาวะทรงตัว จากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้เรายังคงเห็นการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เล่นรายต่าง ๆ ในตลาดที่พยายามปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับแกร็บฟู้ดเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ”

โดยควบคู่ไปกับการนำเสนอบริการและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุค 5.0 สอดคล้องทิศทางการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ภายใต้แนวคิด Building Sustainable Growth through Innovation ที่เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาท และทวีความสำคัญมากขึ้น จึงได้ใช้จุดแข็งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา และปรับปรุงการให้บริการให้สอดคล้องกับอินไซต์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค

โดยมุ่งแก้ pain point เพื่อทลายข้อจำกัดต่าง ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้บริการทั้งด้านเวลา ความสะดวก ราคา และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

S1: SAVE TIME (ประหยัดเวลา)

เพื่อตอบโจทย์คนยุคนี้ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ หรือต้องการทลายข้อจำกัดในด้านเวลา จึงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการลดเวลาในการรอ เพื่อให้วางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น ด้วยบริการรับเองที่ร้าน (Self-pick up) ฟีเจอร์ที่ผู้ใช้บริการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชั่น Grab เพื่อไปรับเองที่หน้าร้าน โดยไม่ต้องต่อคิว โดย 53% ของผู้ที่ใช้ฟีเจอร์นี้ไม่ต้องการเสียเวลาต่อคิวเพื่อรอที่หน้าร้าน

ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศใน 5 สถานที่คือ สามย่านมิตรทาวน์ อาคารเดอะปาร์ค ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสีลมเอจ และฟีเจอร์สั่งอาหารล่วงหน้า (Order for later) ที่ให้ผู้ใช้บริการสั่งอาหารได้ล่วงหน้าได้มากสุดภายใน 7 วัน โดยระบุวันและเวลาที่ต้องการรับอาหารตามความสะดวก โดย 58% ของผู้ใช้ฟีเจอร์นี้คือคนที่ยุ่งกับการทำงานระหว่างวันจนไม่มีเวลาสั่งอาหาร ขณะที่ 20% ต้องการหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารในช่วงเวลา peak hours เช่น มื้อเที่ยง และมื้อเย็น

S2 : SAVE EFFORTS (สะดวกสบาย)

ให้ทุกประสบการณ์การกินเป็นเรื่องง่าย ด้วยฟีเจอร์สั่งอาหารแบบกลุ่ม (Group Order) ให้ผู้ใช้หลายคนสั่งอาหารจากร้านเดียวกันรวมกันได้ผ่านออร์เดอร์เดียว ได้รับความนิยมจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ชอบสั่งอาหารมารับประทานร่วมกัน, บริการทานที่ร้าน (Dine-In) รองรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหาและเช็กรีวิวร้านอาหาร การนำเสนอดีลส่วนลดสูงสุด 40% ในรูปแบบ E-Voucher จากร้านอาหารชั้นนำ ไปจนถึงการให้ส่วนลดบริการเรียกรถเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

S3 : SAVE COST (ประหยัดเงิน)

นอกจากระบบแพ็กเกจสมาชิก “GrabUnlimited” เพื่อสร้าง Loyalty ผ่านการมอบส่วนลดให้สมาชิกแล้ว แกร็บยังพัฒนาบริการให้มีทางเลือกที่หลากหลายด้านราคาค่าบริการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคา (Price-conscious user) เช่น มีดีลลดฟ้าผ่า (Flash Sale) นำเสนอดีลส่วนลดขั้นกว่าสำหรับผู้ใช้บริการ

ความพิเศษอยู่ที่การ Personalize ดีลจากร้านอาหารได้ตามความชื่นชอบและพฤติกรรมการใช้บริการ ส่วนลดสูงสุดถึง 50%, ส่งแบบประหยัด (Saver Delivery) ฟีเจอร์ที่เหมาะกับผู้ใช้บริการสั่งอาหารที่ไม่เร่งด่วนและต้องการประหยัดค่าส่ง ช่วยลดค่าส่งสูงสุด 50% เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบมาตรฐาน

S4 : SAVE THE ENVIRONMENT (รักษ์โลก)

ตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การงดรับช้อน-ส้อมพลาสติก (Plastic Cutlery Opt-Out) ซึ่งในปีที่ผ่านมา ลดปริมาณขยะพลาสติกไปแล้วกว่า 8,100 ตัน จากการงดแจกช้อนส้อมพลาสติกรวมกว่า 898 ล้านชุดในทุกประเทศที่แกร็บให้บริการ และชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเงิน 1 บาทในทุกออร์เดอร์ เพื่อสมทบทุนในการปลูกต้นไม้ ชดเชยปริมาณคาร์บอนจากการส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ โดยที่ผ่านมาสนับสนุนการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 2 แสนต้นทั่วภูมิภาค