“วรฉัตร” ผู้บริหาร Grab งง ห้วยขวาง-รัชดา ร้าน-แอปฯส่งอาหารมีแต่ภาษาจีน 

วรฉัตร Grab ห้วยขวาง

ย้อนมอง “มณฑลห้วยขวาง” หลังผู้บริหาร Grab โพสต์สุดงง! เจอคนขับของแอปฯส่งอาหารสัญชาติจีน ที่ไม่เคยเห็นชื่อมาก่อน มีแต่ภาษาจีนเท่านั้น และรับส่งอาหารกับร้านที่มีเจ้าของจีน  

 วันที่ 19 มีนาคม 2566 นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการไปทำงานย่านรัชดา พบว่า ร้านอาหารย่านนี้มีร้านอาหารจีนเป็นหลัก และร้านที่เข้าไปใช้บริการล้วนมีแต่ภาษาจีนตั้งแต่เจ้าของ พนักงาน เมนู ใบเสร็จ จนถึงแอปพลิเคชันส่งอาหารก็ของจีน 

โพสต์ดังกล่าวมีข้อความว่า 

“วันนี้มาประชุมที่ออฟฟิศเมืองไทยย่านรัชดา ก่อนกลับแวะทานข้าวเย็นที่ร้านหม้อไฟในบริเวณนี้ นอกจากร้านจะเป็นเจ้าของคนจีนแล้ว พนักงานก็จีน เมนูก็จีน เช็คบิลมาระบบ POS ที่ออกใบเสร็จมาก็เป็นภาษาจีน เดินออกมานอกร้านเจอกับคนขับแอปฯส่งอาหารที่ไม่เคยเห็นชื่อมาก่อน เข้าไปคุยกับคนขับก็ทราบว่าเป็นแอปฯจีน ที่มีแต่ภาษาจีนเท่านั้น และรับส่งอาหารกับร้านอาหารจีนในย่านนี้เป็นหลัก

ลองเข้าไปดูใน App Store ก็เจอว่าเป็นแอปฯภาษาจีน 100% คือ ครบวงจร นอกจากร้านอาหารแล้ว ในย่านนี้ก็ยังมีโรงแรมคนจีน ทัวร์ก็คนจีนขายให้คนจีน รถรับ-ส่งก็คนจีน ทำให้บริการคนจีน ไม่รู้จะตีความหรือสรุปว่าอย่างไรดี แต่มันแปลก ๆ แฮะ”

วรฉัตร Grab ห้วยขวาง
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เผยแพร่รายงานว่า ย่านรัชดา-ห้วยขวาง ถือเป็น “ไชน่าทาวน์2” และมีการขนานนามอย่างติดปากว่า “มณฑลห้วยขวาง” 

ในรายงานดังกล่าว นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (ส.ก.) เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชาวจีนที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นคนจีนที่พูดไทยไม่ได้ “เป็นจีนแผ่นดินใหญ่” มีทั้งที่มาจากแผ่นดินใหญ่โดยตรง และที่อยู่ประเทศต่าง ๆ ก่อนเข้ามาไทย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา หรือ ไต้หวัน แต่ที่ผ่านมาจีนปิดประเทศ รุ่นใหม่ที่เข้ามาประกอบธุรกิจจึงเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาจากประเทศที่สาม ไม่เหมือนที่เยาวราชซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน

ประพฤทธ์บอกอีกว่า นักลงทุนที่เข้ามาในพื้นที่ล้วนเคยเป็นนักท่องเที่ยวมาก่อน หลังมาเยือนสัก 2-3 ครั้ง ก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและตัดสินใจลงทุน จากนั้นจึงบอกต่อ ๆ กันในหมู่ชาวจีน ทำให้ร้านรวงและบริการต่าง ๆ ผุดขึ้นทั่วห้วยขวาง รายใหญ่ในย่านนี้ลงทุนประมาณ 15-20 ล้านบาท แต่ก็ถือเป็นระดับ SMEs ของทุนจีน โดยมีการร่วมทุนกันหลายคน มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์จะเริ่มด้วยการเป็นหุ้นส่วนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวจีนหนึ่งคนเป็นเจ้าของหลายกิจการ

คนจีนเริ่มทำธุรกิจในย่านนี้มานานเป็น 10 ปีแล้ว กิจการของชาวจีนส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านนวด คาร์แคร์ ตกแต่งรถยนต์ ไปจนถึงธุรกิจรับฝากขายและเช่าอสังหาริมทรัพย์ สมัยเฟื่องฟูก่อนการระบาดของโควิด-19 ต้องมีตู้สำหรับแลกเปลี่ยนเงินของคนจีนโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม นายประพฤทธ์บอกอีกด้วยว่า กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาเปิดกิจการ โดยเฉพาะร้านอาหาร มีลูกค้ากว่า 70% เป็นคนไทย นักลงทุนจีนต้องการเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าชาวไทยมากกว่ารองรับนักท่องเที่ยวจากจีนที่เข้ามา มีการศึกษาว่าคนไทยชอบอาหารแบบใด พยายามทำรสชาติให้เหมาะสม และหาเมนูที่ถูกปาก เท่านั้นไม่พอมีการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียด้วยการจ้างยูทูบเบอร์มารีวิว ทำให้กลุ่มวัยรุ่นแห่กันมากินตามร้านดัง ๆ โดยมีจุดขายว่าได้มากินของต้นตำรับจากจีน  

“ในเรื่องของการแย่งพื้นที่ทำมาหากินธุรกิจคนไทย ในพื้นที่แทบไม่มี เนื่องจากเป็นการค้าขายคนละประเภทกัน ทุนจีนขายอาหารจีนอยู่แล้ว คนที่จะมากินจึงคิดและตั้งใจไว้แล้ว ทำให้ไม่ค่อยมีการแย่งลูกค้ากัน ในทางกลับกันคนจีนจะแข่งขันกันเองเสียมากกว่า เพราะทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ผู้บริโภคกลุ่มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกร้านไหนเท่านั้น”