เปิดใจประธานบอร์ด NT เร่งเครื่องบริหารขุมทรัพย์ 2 แสนล้าน

ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์
ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์

3 ปีก่อน ย้ายข้ามจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปนั่งเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ล่าสุด “ดร.โจ-ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” ขยับจาก กรรมการ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “เอ็นที-NT” ขึ้นมานั่งเป็นประธานบอร์ด ที่มาพร้อมความตั้งใจที่จะมีส่วนในการขยับปรับเปลี่ยน “NT” ให้ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ให้ทันเส้นตายในอีกไม่ถึงสองปีจากการที่คลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ทั้ง 850 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz จะสิ้นสุดลงในปี 2568 ทำให้รายได้ที่เคยมีปีละ 4 หมื่นล้าน จะหายวับไปด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.โจ” เกี่ยวกับมุมมอง และภารกิจในฐานะประธานบอร์ด องค์กรรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารขนาดใหญ่ของประเทศ ดังนี้

เปลี่ยน NT เป็นโฮลดิ้งฝันยังไกล

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ไม่ว่าบอร์ดชุดใหม่ หรือชุดเก่าต่างเห็นตรงกันว่า NT ต้องขายของให้ได้ ทำอย่างไรให้มีรายได้เพียงพอที่จะอยู่ได้ในระยะยาว หลายคนมองว่าองค์กรนี้ใหญ่เกินไป และควรต้องทำให้เป็น “บริษัทโฮลดิ้ง” มีการถ่ายโอนคน และทรัพยากรที่มีศักยภาพไปทำรายได้จากที่อื่นแล้วนำมาเลี้ยงแม่

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้ว แต่จะทำได้อย่างไร อย่างแรกเลยต้องขายของให้ได้ก่อน แล้วจึงมองถึงการบริหารสินทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การตั้งบริษัทใหม่ ไม่ใช่แค่การหารายได้ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ทำให้บริษัทแม่ลีนขึ้น ยังช่วยถ่ายโอนกำลังคนที่มีมากเกินไปออกไปได้ด้วย ช่วงเริ่มต้นในการตั้งบริษัทใหม่ ต้องใช้ทั้งเงิน ซึ่งเราเป็น Venture Capital ได้ และมีกำลังคนบางส่วน”

ปัจจุบันเอ็นทีมีกระแสเงินสดปีละแสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกเหนือจากที่ต้องกันไว้สำหรับคดีพิพาทฟ้องร้องกับเอกชนที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่บริษัทโดนฟ้องร้อง และแพ้คดีอยู่ราว 8-9 หมื่นล้านบาท เป็นคดีที่ค่าเสียหายสูงกว่าพันล้านบาท 17 คดี แต่คดีที่บริษัทเอ็นที ฟ้องร้องเอกชนมีมากกว่าแสนล้านบาทที่ยังไม่ตัดสิน และควรเร่งให้จบภายในปีนี้ ทั้งการดำเนินการทางกฎหมาย และการเจรจา เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนทำอย่างอื่นได้

“ทุกวันนี้เรามีรายได้เพิ่มจากการลงทุน 1% ก็ราว 1 พันล้าน ตั้งเป้าเพิ่มให้ได้ 3% ภายในปี 2567 ถ้าทำได้ก็จะเพิ่มตั้ง 3 พันล้าน ผมคิดว่าทุกคนเห็นตรงกันว่าการตั้งบริษัทลูกออกไปหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเทคโนโลยี หรือฝั่งการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งที่ดิน อาคาร หรือทรัพยากรทางการสื่อสารของเรา จะช่วยให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น ทั้งบอร์ดเก่า บอร์ดใหม่ รวมถึงสหภาพแรงงาน น่าจะคิดตรงกันว่าเราอยู่กันแบบนี้ไม่ได้ องค์กรต้องเล็กลง มีรายได้มากขึ้น และอยู่ได้ด้วยตัวเอง การเป็นโฮลดิ้งหรือเป็นแม่ ให้บริษัทลูกมีรายได้มาเลี้ยงก็เป็นเรื่องดี”

ADVERTISMENT

อีกส่วนคือเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กร ต้องลดความซับซ้อนของระบบงานลง ทำให้บริษัทมีภาระโครงการเกษียณก่อนกำหนด และค่าจูงใจให้พนักงานเพื่อจะลดจำนวนคน โดยตนจะตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องบุคคลโดยเฉพาะ มีการทาบทามมาแล้วจากหน่วยงานรัฐ เพื่อมาช่วยเซตคนในองค์กร

บริหารขุมทรัพย์ 2 แสนล้าน

ดร.ณัฐพลกล่าวด้วยว่า อีกส่วนที่จะมีการทาบทามหาคนมาดูแลคือ สินทรัพย์ของ NT ที่มีจำนวนมาก และน่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เหล่านั้น ไม่ว่าจะขายหรือให้เช่า แต่คงขายไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในสถานะล้มละลาย ซึ่งที่ดินและสินทรัพย์กว่า 2,400 ไร่ ในแง่มูลค่าน่าจะ 2 แสนล้านบาท จึงควรนำมาทำให้เกิดประสิทธิภาพ มีรายได้จากค่าเช่ามากกว่าเดิม ซึ่งต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเข้ามาช่วย เพราะอาคารโทรศัพท์หรือชุมสายบางแห่งปล่อยทิ้งไว้ก็มีค่าใช้จ่าย ค่าซ่อมบำรุงเหมือนกัน ต้องลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้

ADVERTISMENT

“เราอาจเริ่มที่ กทม.ก่อน เพราะเรานั่งทับขุมทรัพย์ที่มีค่าอย่างมาก เช่น ตึก NT บางรัก ทำเลทองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามไอคอนสยาม น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่พื้นที่นั้น เราเอามาทำดาต้าเซ็นเตอร์ และเป็นจุดเชื่อมสายเคเบิลใต้แม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ดินตรงถนนงามวงศ์วาน 70 กว่าไร่ ก็มีมูลค่าสูงเพิ่มพูนรายได้ให้กับบริษัทได้ ยังไม่รวมอาคารที่ดินที่กระจายทั่วประเทศ”

เร่งใช้ประโยชน์จากคลื่นที่มี

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ดังที่ทราบกันว่า ภายในปี 2568 เอ็นทีจะสูญเสียรายได้จากพันธมิตรที่ใช้คลื่นความถี่ปีละเกือบ 40,000 ล้านบาท จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหารายได้มาทดแทน ขณะที่ความถี่ที่มีศักยภาพคือ ย่าน 2.6 GHz ยังไม่มีใครมียูสเคสเลย เป็นคลื่นที่ต้องโฟกัสกับโรงงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น สามารถเอาโซลูชั่นไร้สายไปติดตั้งแล้วยิงเข้าไปได้ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับการนิคมแห่งประเทศไทยมานานแล้ว และตอนนี้ MOU จะหมดอายุแล้วก็ยังไม่ได้ทำอะไร ดังนั้นในปีนี้จึงต้องเร่งให้เกิดแล้วนำไปขายไปสร้างให้ได้

“สินทรัพย์อื่น เช่น เคเบิลใต้น้ำ หรือโครงข่ายเคเบิลทั่วประเทศ เราได้เปรียบอยู่ และเป็นรายได้หลัก รวมถึงท่อร้อยสาย มาทำท่อเช่าสายเคเบิล ส่วนคลื่นที่มีอย่าง คลื่น 5G 700 MHz ก็ต้องเร่ง Utilized ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศเป็นดิจิทัลมากขึ้น”

“ไม่แพง-ทั่วถึงเป็นธรรม”

ประธานบอร์ด “NT” ย้ำว่า ทั้งหมดนี้ต้องวางบนพื้นฐานว่าต้องขายได้ อย่างแรกต้อง “ไม่แพง” ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ว่าถ้าทำราคาให้ถูกลง แต่ให้ระยะเวลาการใช้บริการของลูกค้านานขึ้น ให้เพียงพอให้เรามีสภาพคล่อง มีเงินสดหมุนเวียน ไม่ใช่คิดแต่จะมีกำไรอย่างเดียว

แต่จะต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศทั่วถึง และเป็นธรรมมากกว่า การเก็บค่าบริการแพงไม่ช่วยให้ดีขึ้น ต้องคิดแบบ Long run มาผลักดันทำโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้ลูกค้าลองใช้ ขยายไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าดี แล้วคนอื่นทำตามเป็นมาตรฐานใหม่

“จริง ๆ ค่าบริการโทรศัพท์มือถือของ NT ก็ไม่แพง มีผู้ใช้ 2 ล้านกว่าราย เห็นตัวเลข ARPU แล้วผมยังตกใจ แค่ 70 บาท ส่วนนี้เราก็ต้องมานึกถึงเรื่อง Bundle ไปกับโทรศัพท์บ้านที่เรามีจุดแข็ง มีโครงข่าย ยังมีคนใช้งานอยู่ และต้องคำนึงถึงการเพิ่ม Bundle ประสบการณ์ผู้ใช้ด้านอื่น ๆ ด้วย”

สำหรับธุรกิจดาวเทียม NT ไปขอรัฐใช้ได้ เพราะตามกฎหมาย เอกชนต้องแบ่งช่องความถี่ให้รัฐในส่วนที่รัฐต้องใช้ เราไปขอมาให้บริการหน่วยงานภาครัฐได้โดยไม่เสียค่าใบอนุญาต ทำให้ต้นทุนต่ำมาก

แต่ถามว่านำมาบริหารจัดการได้มากน้อยแค่ไหนก็ตอบได้ยาก อย่างวงโคจรที่ประมูลได้มา อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก น่าจะทำอะไรได้ แต่เราก็ไม่มีคนที่ชำนาญด้านนี้ เมื่อไม่มีก็ต้องหาพาร์ตเนอร์ ไม่ใช่ของบฯ เพื่อไปทำเอง

แพลตฟอร์ม คุมคลาวด์เอกชน

ส่วนรายได้จากการให้บริการคลาวด์ยังน่าสนใจ แต่รูปแบบเปลี่ยนจาก GDCC คลาวด์กลางภาครัฐไปแล้ว ทำให้ความต้องการระบบมีความซับซ้อนขึ้น ตามมติ ครม. ให้งบประมาณคราวละ 3 ปี วงเงิน 6 พันล้านบาท วงเงินนี้ได้มา 2 หมื่น VM (Virtual Machine) แต่ประเมินว่าภาครัฐต้องใช้ราว 8 แสน VM ถ้ามีการใช้งานเต็มที่จริงก็จะเป็นการลงทุนที่สูงมาก

ดังนั้นเอกชนจึงต้องช่วยลงด้วย โดย NT สามารถเข้าไปเป็นคนกลางทำมาตรฐานให้ได้ และสามารถต่อยอดจากข้อมูลที่เชื่อมต่อไปเป็นแอปพลิเคชั่นและอื่น ๆ ได้ ไม่เช่นนั้นคลาวด์จะเป็นแค่ที่เก็บข้อมูล

สำหรับ Private Cloud ที่บิ๊กเทคจะมาลงทุนนั้น NT ก็สามารถเข้ามาช่วยทำในส่วนข้อมูลสำคัญของประชาชน หรือของรัฐได้ ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็มีความคิดที่จะทำ Cloud Management Platform (CMP) จากแนวคิดที่ว่า เมื่อหน่วยงานภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างใช้พื้นที่คลาวด์ ซึ่งมีหลายรายเป็น Provider ก็อาจเกิดความสับสนได้ ดังนั้นสามารถเข้าไปทำหน้าต่างเดียวเพื่อให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยใช้งาน ไม่ว่าดาต้าเซ็นเตอร์ หลังหน้าต่างนั้นจะเป็น Public Cloud ของใคร เราก็สามารถควบคุมการเข้าออกได้ ในส่วนนี้รัฐวิสาหกิจควรทำ

“ตัว CMP จะเริ่มในปีนี้ มีงบประมาณอยู่แล้ว แต่จะต้องแก้มติ ครม.บางส่วน เพราะในมติ ครม.เดิมให้ทำคลาวด์กลางภาครัฐ ที่เราเป็นโฮสต์ แต่ต่อไปจะมีเอกชนรายใหญ่ ๆ คลาวด์สาธารณะมาลง ดังนั้นจึงต้องแก้ให้ทำแพลตฟอร์มบริหารจัดการคลาวด์กลางได้”