NT ดิ้นอุดช่องโหว่รายได้หด ปรับแผน ‘มือถือ-เน็ตบ้าน’ เลี่ยงแข่งดุ

พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์

นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในขวบปีที่ 3 หลังการควบรวมกิจการระหว่าง “ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม” ท่ามกลางบริบทธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น การควบรวมธุรกิจของยักษ์มือถือ (ทรู-ดีแทค) และล่าสุดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ประกอบกับในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2568 เป็นช่วงที่คลื่นความถี่ 850 MHz จะหมดอายุลง

นอกจากต้องโอนย้ายฐานลูกค้าไปที่คลื่น 700 MHz แล้ว ยังกระทบกับรายได้ที่จะหายไปปีละหลายหมื่นล้านบาท NT จึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องปรับแผนธุรกิจ และหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ดังนี้

เพิ่มโฟกัสเจาะภาคธุรกิจ

“พันเอกสรรพชัยย์” กล่าวว่า รายได้จากการดำเนินธุรกิจในช่วง 10 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 72,233 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 6.7% และติดลบจากแผนที่วางไว้ 9,550 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจ Hard Infrastructure 8,041 ล้านบาท, ธุรกิจ International 1,414 ล้านบาท, ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) 40,091 ล้านบาท, ธุรกิจ Fixed Line & Broadband 15,345 ล้านบาท, ธุรกิจ Digital 3,473 ล้านบาท และบริการที่ไม่ใช่โทรคมนาคมและรายได้อื่น ๆ 3,869 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อจบปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 80,000 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายตามแผนงานในปีหน้า ตั้งเป้าไว้ที่ 89,000 ล้านบาท เป็นกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) หรือการจากกันด้วยความสมัครใจ (Mutual Separation Plan-MSP) จำนวน 1,200 คน บริษัทจะขาดทุน 1,700-1,800 ล้านบาท รวมถึงมีการลดงบประมาณในการลงทุนลงอีกราว 1,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าในมือถือ 2 ล้านราย โดย NT กำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ จากโครงสร้างพื้นฐานที่มี โดยเฉพาะการใช้งานในภาครัฐ และ “machine-to-machine” หรือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ เพื่อสร้างการเติบโต รองรับรายได้ที่จะหายไปในปี 2568 แต่ NT จะไม่ทิ้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป เพราะโครงข่ายที่มีรองรับลูกค้าได้สูงสุด 3.6 ล้านราย

แต่ต้องยอมรับว่าความสามารถในการแข่งขันสู้เอกชนลำบาก จึงต้องโฟกัสไปที่การใช้ระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น Smart City, Smart Energy, Smart Health และ Smart Factory เป็นบริการที่ไม่ต้องใช้ดาต้า หรือแบนด์วิดท์ในการส่งข้อมูลมาก ทั้งให้บริการได้ทั้งภาครัฐ และเอกชน”

ปัจจุบันซิม NT ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย 2G, 3G, 4G และ 5G ให้บริการในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว 2-3 แสนชิ้น ทั้งยังพบว่าอุตสาหกรรมพลังงาน และสุขภาพมีโอกาสลงทุนระบบอัจฉริยะค่อนข้างสูง จึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก

“ในอนาคตจะมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ เช่น แว่น VR/AR ธุรกิจนี้จึงโตไปได้ถึงการใช้ในอุปกรณ์ 5-6 ล้านชิ้น เป็นกลุ่มที่มี ARPU หรือรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้า 1 คนเล็กมาก จึงอาจไม่อยู่ในความสนใจของบริษัทอื่น แต่เรามองว่าอะไรที่เป็นรายได้ทำหมด คาดว่าเมื่อมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ IOT มากกว่าจำนวนลูกค้าทั่วไป 5 เท่า จะสร้างรายได้ธุรกิจมือถือได้อีกเท่าตัว ตัวอย่างการใช้ซิมของเราในภาคธุรกิจที่ชัดเจนที่สุด คือบริการ Phuket Smart Mobility ที่ร่วมกับแอปพลิเคชั่น GCOO และทิพยประกันภัย”

ลุยภูเก็ต Smart Mobility

พันเอกสรรพชัยย์กล่าวต่อว่า NT, บริษัท ไทย เพอโซนอล โมบิลิตี้ จำกัด (TPM) บริษัทร่วมกับ GBike Co., Ltd. ผู้ให้บริการด้านพาหนะพลังงานไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีความร่วมมือในโครงการให้บริการยานพาหนะพลังงานสะอาดในพื้นที่รอบจังหวัดภูเก็ต ผ่านบริการ Phuket Smart Mobility ชูจุดเด่นเมืองในรูปแบบ Green & Smart City

“เรานำบริการ 5G คลื่น 700 MHz ในชื่อ my by nt มาสนับสนุนการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดที่ดำเนินการโดย TPM เฟสแรก เป็นจักรยานไฟฟ้า 200 คัน ซิม my 5G ทำหน้าที่เป็น Connectivity IOT เชื่อมโยงสัญญาณรถเข้ากับแพลตฟอร์มการบริหารจัดการของ GCOO ช่วยเก็บดาต้าจากผู้ใช้ และติดตามเส้นทางการใช้ยานพาหนะ”

โดยนักท่องเที่ยวและผู้ใช้ทั่วไปใช้บริการ Phuket Smart Mobility ยานพาหนะพลังงานสะอาดในพื้นที่ภูเก็ตผ่านแอป GCOO ได้ เป็นบริการแบบ Pay per Use ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น โดยทิพยประกันภัยได้ทำประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บริการในการขับขี่รถจักรยานไฟฟ้าด้วย กรณีเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บจากการขับขี่จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาทต่อครั้ง และคุ้มครองชีวิต และทุพพลภาพ สูงสุด 100,000 บาท

รวมถึงกรณีผู้ขับขี่รถจักรยานไฟฟ้าก่อให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินบุคคลภายนอก คุ้มครองวงเงินสูงสุด 10,000 บาท ตามค่าเสียหายจริง ทั้งคุ้มครองตัวรถของ TPM เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยต่าง ๆ สูงสุด 100,000 บาท โดยทิพยประกันภัยมีเครือข่ายโรงพยาบาลในภูเก็ตสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายตามวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์

ฉายภาพความร่วมมือ

นายวอเตอร์ ยุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GBike Co., Ltd. เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ให้บริการยานพาหนะส่วนบุคคลขนาดเล็ก (Micro-Mobility) ภายใต้แบรนด์ GCOO ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงหลายประเทศหันมาให้ความสนใจ และเลือกใช้การคมนาคมขนาดเล็กเพื่อเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีประชาชนเข้าใจถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทำให้ GBike เลือกทำการตลาดกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับ NT และทิพยประกันภัย ให้บริการ Phuket Smart Mobility ยานพาหนะพลังงานสะอาด

“ในเบื้องต้นเป็นจักรยานไฟฟ้าตอบรับไลฟ์สไตล์การใช้งานของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักในภูเก็ต ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มรูปแบบ และพื้นที่การให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น”

ด้าน นางสาวสุภาพ ประดับการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาร่วมมือกับ NT หลายโครงการ เช่น ซิมท่องเที่ยวที่มาพร้อมประกันเดินทาง โครงการเน็ตบ้านอุ่นใจ NT Fiber HOME PREMIUM และแพ็กเกจบ้านโซลาร์เซลล์ เป็นต้น นำมาสู่ความร่วมมือใน Phuket Smart Mobility

หยุดเลือดบรอดแบนด์

พันเอกสรรพชัยย์กล่าวด้วยว่า นอกจากจะมีการปรับแผนธุรกิจมือถือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้แล้ว ยังจะปรับแผนการลงทุนในธุรกิจบรอดแบนด์ที่ขาดทุนปีละกว่า 2,000 ล้านบาท และมียอดยกเลิกการใช้งานเดือนละ 1.2% หรือประมาณ 14% ต่อปีด้วย โดยจะไม่ลงทุนเพื่อขยายพอร์ตการให้บริการเพิ่ม เพราะเชื่อว่าที่มีอยู่เพียงพอต่อการให้บริการแล้ว

“ถ้าเรายังไม่สามารถหยุดเลือดที่ไหลออกหรือรักษายอดยกเลิกการใช้งานได้ ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ที่ผ่านมาลูกค้าหายไป 14% ต่อปี การควบรวมกิจการในธุรกิจบรอดแบนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้นน่าจะช่วยให้คู่แข่งมีความคล่องตัวในการทำการตลาด และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ส่งผลกระทบกับเราบ้างเล็กน้อย เพราะเรามีปัญหาของเราที่ต้องจัดการอยู่แล้ว แต่มองว่าเมื่อมีผู้ให้บริการน้อยลง การแข่งขันด้านราคาจะไม่สูงเท่าเมื่อก่อน เรารู้ข้อจำกัดของตนเอง และพยายามเลี่ยงไม่ลงไปแข่ง”

แม่ทัพ NT ทิ้งท้ายด้วยว่า ลูกค้าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของ NT เป็นกลุ่ม ARPU ต่ำ ใช้จ่ายกับค่าอินเทอร์เน็ตราว 400 บาทต่อเดือน ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติมนอกจากบริการอินเทอร์เน็ต จึงเน้นไปที่การให้บริการ และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อรักษาฐานลูกค้าให้อยู่กับบริษัทนานขึ้น ปัจจุบันธุรกิจบรอดแบนด์มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.8 ล้านราย