
ทดสอบการใช้งานภาษาไทยของ ChatGPT หลัง OpenAI อัพเกรดโมเดลภาษา GPT-4o ใหม่แล้วรองรับกว่า 50 ภาษาแล้ว รองรับการอัพเกรดอะไรบ้าง
OpenAI อัพเกรดโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT เป็นเวอร์ชั่น GPT-4o แล้ว นำมาซึ่งคำถามเดิม ๆ ที่ผู้ใช้ชาวไทยทราบดีว่า Generative AI ไม่เวิร์ก สำหรับการใช้งานด้วยภาษาไทย เพราะเอไอไม่ได้เข้าบริบทและความเข้าใจอักขรวิธีของภาษาไทยอย่างที่เราใช้
ดังนั้น เมื่อมีการอัพเกรดใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปทดสอบการใช้งานภาษาไทย แบบ “ถ่องแท้” ด้วยการให้แต่ง “กลอนแปด” ให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องแก้ไขมากไหม หากใช้งานได้ดีหมายความว่าโมเดลนี้เวิร์กสำหรับภาษาไทยในระดับหนึ่งเลย
GPT-4o อัพเกรดอะไรบ้าง
OpenAI อัพเกรด GPT-4o ด้วยการผสานโมเดล GPT 4 ที่มีความสามารถระดับนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยจากผลการทำข้อสอบระดับเดียวกัน เข้ากับการทำงานหลายช่องทางแบบ o-Omni ที่มีทั้งข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ
GPT-4o จะรองรับมากกว่า 50 ภาษาทั่วโลก และปิดให้ผู้ใช้ทุกคนใช้งานได้ฟรี สามารถประมวลผลโต้ตอบเร็วขึ้น มีโควตาการใช้งานมากขึ้น สำหรับการใช้งานฝั่ง API ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ราคาของ GPT-4o จะถูกกว่า GPT-4 Turbo ครึ่งหนึ่ง โควตาการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และเร็วขึ้นเท่าตัว
ไฮไลต์ คือ การแปลภาษาแบบเรียลไทม์ โต้ตอบอย่างลื่นไหล ด้วยการพูดแทรกเหมือสนทนาจริง โดยวิดีโอสาธิต ทำให้เห็นว่าคู่สนทนาที่พูดภาษาละติน ในขณะที่อีกฝั่งพูดภาษาอังกฤษ และโมเดลเอไอสามารถแปลภาษาในขณะที่คู่สนทนากำลังโต้ตอบกัน
ในส่วนของภาพ โมเดลนี้อ่านโจทย์คณิตศาสตร์จากภาพที่โชว์บนกล้องหรือหน้าจอและช่วยแก้สมการให้ได้
ในด้านความชาญฉลาดก็อัพเกรดเพิ่มขึ้น โดยการร้อยเรียงภาษาและสื่อสารแบบโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การโต้ตอบคำถามแต่สามารถ ดึงข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วสร้างกราฟ คุยในประเด็นที่ได้จากภาพถ่าย หรือการสรุปเรื่องจากเอกสาร งานวิจัย หรือไฟล์ที่อัพโหลด
ภาษาไทย ใช้ดีขึ้นไหม
ผู้ที่ใช้งาน ChatGPT มาตั้งแต่เปิดตัวว่า แม้จะมีการอัพเกรดโมเดลภาษา GPT 3, 3.5 ถึง 4 ก็ยังต้องเจอการเรียบเรียงภาษาไทยไม่ลื่นไหล จนมีนักพัฒนาในหลายบริษัทต้องการสร้างโมเดลภาษาไทย หรือ ThaiGPT มาใช้เองทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอไทยด้วย
ในการอัพเกรดล่าสุดนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลองใช้ทั้ง GPT-3.5 และ GPT-4o ที่เปิดให้ใช้ฟรีบน ChatGPT desktop
แน่นอนว่าบททดสอบภาษาไทยที่ดีที่สุด เพื่อดูว่าคน ๆ นั้นมีความรุ่มรวยทางภาษาแค่ไหน คือ การแต่งบทประพันธ์ ที่ใช้ทั้งหลักภาษา คำเป็น คำตาย เสียงวรรณยุกต์ เพื่อผสมสัมผัสตามโครงสร้างฉันทลักษณ์ รวมถึงอักขรวิธีลูกเล่นผสมคำ เปลี่ยนเสียง ใช้การันต์ และอื่น ๆ สุดท้ายคือประเด็นหรือความหมายที่สื่อสารด้วยกลอนตรงตามที่ต้องการหรือไม่
GPT-3.5 เพราะพริ้ง แต่เทรนยาก
เริ่มต้นมาเราก็สมมุติบทบาทให้ ChatGPT เป็น “กวี” คนหนึ่ง แล้วให้ยกตัวอย่างกลอนแปดที่ดี และถามถึงความรู้ที่มีเกี่ยวกับกลอนแปด แน่นอนว่า “ไม่ถูกต้อง” เพราะ GPT-3.5 บอกว่ากลอนแปดมี 8 บท หรือ 8 บรรทัด
แต่เมื่อลอง Gen ออกมาพบว่ามี 8 พยางค์ตามรูปแบบ
จึงได้ป้อนข้อมูลและคำสั่งเรื่องโครงสร้างและฉันทลักษณ์ที่ถูกต้อง แล้วแนบตัวอย่างให้ยาวนานกว่า 3 ชม. จึงได้รูปแบบกลอนแปดในหัวเรื่อง “รำลึกถึงผู้วายชนม์” ออกมาได้ใกล้เคียงที่สุด แต่มักจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างฉันทลักษณ์ที่เชื่อมระหว่างบท
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำข้อความที่ ChatGPT สร้างขึ้นมา แก้ไข “อักขรวิธี” เพียงเล็กน้อยก็จะสมบูรณ์ เป็น กลอนแปดถึงผู้วายชนม์ ที่เพราะพริ้ง ใช้ได้ เช่น กลอนบทแรก
“ยามลมเย็น พัดผ่าน สะท้านฤดี
ครวญคร่ำคล้อย ร้อยรวี ที่ลี้ลา
ดวงดาวส่อง พราวพร่าง กลางนภา
ดุจดวงจิต วิญญาณ ท่านผ่านคอย”
จะเห็นว่าการลากสัมผัสสระ/เสียง จากคำพยางค์ที่ 1-3 ของบาทที่สอง ไปที่พยางค์ที่ 5 (ฤดี-รวี) เป็นสำนวนที่อนุโลมได้ หากเพื่อความไพเราะ ไม่ได้เป็นฉันทลักษณ์ตายตัว แม้ว่าจะมีการกำหนดและเทรนด์คำสั่งไปแล้วซ้ำ ๆ เอไอยัง Gen รูปประโยคนี้มา
ต่อมาคืออักขรวิธี หากเล่นอักขรวิธี จากคำว่าวิญญาณ เป็น “วิญญาณ์” ในบาทสุดท้ายจะลงกลอนและไพเราะไม่น้อย
“ยามลมเย็น พัดผ่าน สะท้านฤดี
ครวญคร่ำคล้อย ร้อยรวี ที่ลี้ลา
ดวงดาวส่อง พราวพร่าง กลางนภา
ดุจดวงจิต วิญญาณ์ ท่านผ่านคอย”
GPT-4o เทรนง่าย ตรงฉันทลักษณ์ แต่ยังไม่ได้ความ
เริ่มต้นเหมือนกันกับ GPT-3.5 แต่ใส่รูปแบบที่ถูกต้องให้เพียงครั้งเดียว GPT-4o สามารถ Gen กลอนแปดได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ แต่อ่านแล้วไม่เพราะพริ้ง และแทบไม่รู้ความ
คาดว่าผู้ใช้จะต้องเทรนด์ หรือ Prompting การสนทนานี้เพิ่มเติมเพื่อให้ผลลัพธ์การเขียนกลอนแปดได้ตามต้องการ ซึ่งจากผลการทดสอบคาดว่า GPT-4o จะสามารถ Gen ใหม่ได้ผลเร็วกว่า หากระบุกลุ่มคำศัพท์ที่อ่านรู้เรื่องและเพราะพริ้งเข้าไปซ้ำ ๆ
สรุป
ในความคิดเห็นจากการทดลองทั้งหมด ให้ความรู้สึกว่าการใช้ ChatGPT ในเวอร์ชั่น ภาษาไทย ถือว่าก้าวหน้าอย่างมากแล้ว แม้ว่าจะยังแต่งกลอนแปดไม่ได้ แต่การประพันธ์นั้นสงวนไว้สำหรับมนุษย์เห็นจะดูดีกว่า
ในเวอร์ชั่นแรกที่มีการปล่อย ChatGPT ให้ลองใช้ มันสามารถเขียนโคลงกลอนภาษาอังกฤษ อย่างเช่น Sonnet ได้ แต่ว่าโครงสร้างบทประพันธ์ไทยนี่ไม่ได้เลย
แม้ว่าเวอร์ชั่นนี้ ChatGPT สามารถเอาคำศัพท์ภาษาไทยมาเรียงร้อยต่อกันได้ดี และบางครั้งค่อนข้างเพราะพริ้ง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสัญญะหรือเจตนาอะไรนอกจากแสดงผลให้ใกล้เคียงคำสั่ง เหมือนกับการที่ครูภาษาไทยเริ่มให้เด็กระดับประถมแต่งกลอนวันสุนทรภู่
ถึงกระนั้น ความสามารถในการใช้งานภาษาไทยของมันก็เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ หรือ “เทรน” ให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง