depa เผยผลสำรวจร่วม TDRI ชี้ชัดแรงงานดิจิทัลไทยไม่ขาดแคลนแต่ทักษะต่ำเกินทำงานได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยผลการศึกษาโครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) รองรับอุตสาหกรรมS-Curve และ หนุนการเติบโตพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เปิดเผยว่า ผลจากการศึกษาพบว่า ในภาพรวมเหมือนประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล แต่จริงๆ แล้วกำลังคนด้านดิจิทัลที่จบมาจากสถาบันการศึกษามีจำนวนมาก ในปี 2560 ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์มีเกือบ20,000 คน โดยยังไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่นๆ  แต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้มีผู้ว่างงานเกือบ 7,000 คน ขณะที่กำลังคนด้านดิจิทัลที่ภาคธุรกิจต้องการมีเพิ่มขึ้นประมาณ14,000 คน ทั้งยังสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง

ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยคือ คนไม่ได้ขาดแคลน แต่บุคลากรที่ผลิตออกมามีทักษะต่ำเกินกว่าจะทำงานได้ ซึ่งหากยังไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง ก็จะใช้ทางแก้แบบเดิมคือ คิดว่าคนขาดแคลนและเร่งผลิตจนมีแต่ผู้ที่มีทักษะต่ำล้นตลาดแรงงาน

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ หลักสูตรในสถาบันการศึกษาปัจจุบันไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) เพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ทั้งยังควรกำหนดมาตรการที่เอื้อต่อการเข้ามาทำงานของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาทิ มาตรการสมาร์ทวีซ่า แต่ต้องครอบคลุมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและระดับกลาง เพื่อจะนำเข้ามาอบรมผู้ปฎิบัติการระดับต้นได้มาขึ้น

ทั้งยังต้องสร้างกลไกในระยะยาว ที่จะให้เอกชนให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา เพื่อให้วางแผนผลิตคน รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง