10 เรื่องน่ารู้ “เจนเซ่น หวง” ซีอีโอ Nvidia บริษัท Market Cap สูงสุดในโลก

เจนเซ่น หวง-nvidia

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจ 10 เรื่องน่ารู้ของ “เจนเซ่น หวง” ซีอีโอ “Nvidia” ยักษ์ผู้ครองตลาดชิป AI หลังขึ้นแท่นบริษัท Market Cap สูงสุดในโลก

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 การเติบโตของเทคโนโลยี AI ได้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกแห่งหนึ่งถูกสปอตไลต์สาดส่อง และกลายเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย หลังจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตทั้งรายได้และมูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ (Market Cap) อย่างก้าวกระโดด

โดยบริษัทที่ว่านั้นคือ “เอ็นวิเดีย” (Nvidia) ยักษ์ผู้ผลิตการ์ดจอ ที่ปัจจุบันครองสถานะเป็นผู้นำในตลาดชิป AI

หลังปิดการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ราคาหุ้นของ Nvidia อยู่ที่ 135.58 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่า Market Cap ไต่อันดับแซงแชมป์เก่าอย่าง “แอปเปิล” (Apple) และ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า Market Cap สูงสุดในโลกที่ 3.335 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ Nvidia เติบโตในยุคที่การแข่งขันด้าน AI เป็นไปอย่างดุเดือด ไม่ได้มีเพียงผลิตภัณฑ์ที่ตอบความต้องการของตลาด ที่ต้องเร่งสร้าง Data Center หรือศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับการประมวลผลจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังมาจากการเดินเกมของ “เจนเซ่น หวง” (Jensen Huang) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทอีกด้วย

ผู้ชายที่ชื่อว่า “เจนเซ่น หวง” คือใคร ? แล้วเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังแนวคิดการบริหารของเขาคืออะไร ?

ADVERTISMENT

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากสำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) มาสรุป และพาทุกคนไปสำรวจ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “เจนเซ่น หวง” ไปพร้อม ๆ กัน

1.เจนเซ่น เกิดในปี 2506 ภูมิหลังเดิมมาจากเมืองไถ่หนาน ไต้หวัน ก่อนที่ครอบครัวจะอพยพออกจากไต้หวัน และส่งเขาในวัย 9 ขวบ ไปอาศัยอยู่กับญาติที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงเข้าศึกษาระดับไฮสกูลที่ Oneida Baptist Institute

ADVERTISMENT

2.หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับไฮสกูลได้ไม่นาน ครอบครัวก็ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่รัฐออริกอนกับเจนเซ่น ซึ่งเขาตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University)

3.การศึกษาในระดับปริญญาตรี ทำให้เจนเซ่นได้พบกับคู่หูในการเรียนและคู่ชีวิตอย่าง “ลอรี มิลส์” (Lori Mills) ซึ่งหลังจากสำเร็จการศึกษาได้ประมาณ 2-3 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานและสร้างครอบครัวร่วมกัน โดยมีบุตรทั้งหมด 2 คน

4.เมื่อสำเร็จการศึกษา เจนเซ่นตัดสินใจทำงานเป็นนักออกแบบไมโครชิป (Microship Designers) อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University)

5.เจนเซ่นมีประสบการณ์การทำงานใน Advanced Micro Devices (AMD) และ LSI Logic ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในยุคนั้น

6.ในปี 2535 เขาได้มีโอกาสพบกับนักออกแบบไมโครชิปอีก 2 ราย คือ “คริส มาลาโชวสกี้” (Chris Malachowsky) และ “เคอร์ติส ปรีเอม” (Curtis Priem) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความเห็นและไอเดียเกี่ยวกับการพัฒนาชิปที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คอมพิวเตอร์สามารถทำในสิ่งที่ขณะนั้นยังทำไม่ได้ รวมถึงการประมวลผลเชิงกราฟิกเพื่อรองรับการมาของเทคโนโลยี 3 มิติ และการเติบโตของอุตสาหกรรมเกม โดยทั้งสามเห็นพ้องต้องกันในไอเดียนี้ และตัดสินใจฟอร์มทีมเพื่อตั้งบริษัทของตนเอง

7.คาเฟ่ที่ชื่อว่า “Denny’s” แทบจะเป็นออฟฟิศแห่งแรกของบริษัทที่ทั้ง 3 คนตั้งใจสร้างขึ้น ซึ่งเป็นทั้งสถานที่แห่งการเริ่มต้นไอเดียและที่ประชุมในครั้งต่อมา เนื่องจากขณะนั้นพวกเขายังคงเป็นพนักงานของบริษัทอื่นอยู่

8.ในปี 2536 บริษัทของทั้ง 3 คนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ซึ่งพวกเขาเรียกบริษัทของตนเองว่า NVision (Next Vision) เรียกย่อ ๆ ว่า NV พ้องเสียงกับคำว่า Envy ที่แปลว่า “อิจฉา” แต่กลับมีบริษัทที่ใช้ชื่อคล้ายกันอยู่ก่อนแล้ว เจนเซ่นจึงเสนอคำว่า “Invidia” ที่แปลว่า “อิจฉา” ในภาษาละติน ทำให้บริษัทใช้ชื่อว่า “Nvidia” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

9.ในช่วงแรกของการตั้งบริษัท Nvidia เสี่ยงล้มละลายอยู่หลายครั้ง แต่เมื่อเปิดตัว “หน่วยประมวลผลกราฟิก” (GPU) ในปี 2542 Nvidia จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญให้กับการพัฒนา AI ในปัจจุบัน

10.เจนเซ่นดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นเวลากว่า 31 ปีแล้ว