“Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ “Pinduoduo” ยักษ์ใหญ่จากจีน ซุ่มเงียบเปิดให้บริการในไทย พร้อมแจกส่วนลดสูงสุด 90% ต้อนรับการเปิดตัว
วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 รายงานข่าวจาก Momentum Works บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า “ทีมู่” (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ “Pinduoduo” ยักษ์ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน คู่แข่งรายสำคัญของ JD.com และอาลีบาบา (Alibaba) เปิดให้บริการในไทยอย่างเงียบ ๆ หลังจากปี 2566 เริ่มให้บริการในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย
นั่นทำให้ “ไทย” เป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Temu เลือกเข้ามาบุกตลาดอย่างเป็นทางการ
รายงานระบุว่า เว็บไซต์ Temu ที่ให้บริการในไทย มีการจำหน่ายสินค้าข้ามพรมแดนหลากหลายประเภท ซึ่งมาพร้อมส่วนลดสูงสุด 90% และชูจุดเด่นเรื่องการส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาส่งจากมณฑลกวางโจว ประเทศจีน มายังกรุงเทพฯ ไม่เกิน 5 วัน
ไทยถือเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว โดยรายงาน “Ecommerce in Southeast Asia 2024” ของ Momentum Works ระบุว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปีก่อน 34.1% มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย
โดยในปี 2566 ช้อปปี้ (Shopee) ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย 49% ตามมาด้วยลาซาด้า (Lazada) 30% และ TikTok Shop 21%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตจากการบุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Temu คือทั้ง 3 ประเทศที่เปิดให้บริการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ไม่มีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซในท้องถิ่นครองส่วนแบ่งอยู่เลย ทำให้ทิศทางการขยายพื้นที่การให้บริการของ Temu ในภูมิภาคนี้ยิ่งน่าจับตามากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ในปี 2565 Temu ประสบความสำเร็จในการบุกตลาดสหรัฐเป็นอย่างมาก หลังจากเปิดตัวได้ไม่กี่สัปดาห์ ยอดดาวน์โหลดของ Temu ก็แซงหน้าแอปในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น แอมะซอน (Amazon), วอลมาร์ท (Walmart) และชีอิน (Shein) เป็นต้น
นอกจากชูจุดเด่นว่าจำหน่ายสินค้าราคาถูก และมอบโค้ดส่วนลดเป็นจำนวนมากแล้ว ยังยอมทุ่มงบฯการตลาดมหาศาลเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า ในปี 2566 Temu ใช้เงินไปกับการเผยแพร่โฆษณาระหว่างการแข่งขัน Super Bowl ราว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นในสหรัฐเพิ่มขึ้น 45% และจำนวนผู้ใช้งานต่อวันเพิ่มขึ้น 20%
ทั้งนี้ การเข้ามาบุกตลาดในไทยของ Temu ได้ทำให้หลายฝ่ายจับตาในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน ภาพรวมการแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย และขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการรายเล็ก