กำกับแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซจีน” ทำอย่างไรไม่ให้สะเทือนความสัมพันธ์

สงครามอีคอมเมิร์ซระอุ เมื่อสินค้าราคาถูกจากจีนบุกตลาดไปทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้หลายประเทศเร่งสร้างแนวทางกำกับดูแล เพื่อปกป้องผู้ประกอบการและผู้บริโภคของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ล่าสุด Temu ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนเข้ามาเปิดให้บริการในบ้านเรา ท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของผู้ประกอบการที่กังวลว่าสินค้าราคาถูกจะทะลักเข้ามาจนไม่สามารถแข่งขันได้

การกำกับดูแลอย่างไรไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น กระทบถึงความสัมพันธ์ระดับชาติ จึงเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยกำกับดูแล

โจทย์ใหญ่ 4 กระทรวง

“ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในภาพรวมเป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ถ้าเป็นเรื่องปกป้องผู้ประกอบการจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เรื่องภาษีและสินค้าเข้าเป็นสรรพากร และศุลกากร กระทรวงการคลัง แต่ถ้าเป็นเรื่องของตัวแพลตฟอร์มจะเป็นภารกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยมี ETDA เป็นผู้กำกับดูแล

ชัยชนะ มิตรพันธ์

“ความกังวลเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย เป็นโจทย์ใหญ่สุดที่กระทรวงพาณิชย์เป็นแม่งานเรียกทุกคนมาหารือ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานด้านมาตรฐานอย่าง อย. สมอ. รวมถึงเอกชนที่ทำเรื่องการค้าระหว่างประเทศ”

สำหรับโจทย์ของ ETDA ในการดูแลแพลตฟอร์มนั้น จะมีกรอบดูแลร่วมกัน และออกเป็นมาตรฐานหรือคำแนะนำในการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม

ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Temu ก็เช็กแล้วว่ามาจดแจ้งตามกฎหมายแพลตฟอร์มแล้ว และกำลังนัดบริษัทคุยว่ามีความเป็นห่วงอะไรบ้าง โดยจะนำมาตรการต่าง ๆ มาสื่อสารกับบริษัท เช่น มาตรฐานในการยืนยันตัวตน มาตรฐานในการคัดกรองโฆษณา มาตรฐานในการดูเรื่องสินค้าที่วางขายให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น เพื่อเป็นไกด์ไลน์ที่จะต้องปฏิบัติ

Advertisment

กำกับดูแลไม่ให้สะเทือนความสัมพันธ์

“และด้วยความที่มีความกังวลจากหลายส่วน สิ่งที่บางประเทศทำคือห้าม เช่น บางประเทศแพลตฟอร์มเข้ามาเปิด แต่ห้ามคนจีนขายของเลย ดังนั้น สินค้าไม่มีที่ไปก็มาลงที่เรา

แต่ถามว่าเราทำแบบนั้นได้ไหม กีดกันสั่งห้ามไปเลย ก็ทำได้ แต่จะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ทั้งความสัมพันธ์ ด้านภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว และอื่น ๆ ที่สะท้อนออกไป ว่าเราไม่เป็นมิตรต่อผู้ประกอบการและนักเดินทางจีน”

Advertisment

“ชัยชนะ” ย้ำว่าเป็นอีกมุมที่ต้องคิด

“เราก็ต้องเป็นเพื่อนกับทุกคน ถ้าไปทำอะไรที่แบบไม่เข้าหูเข้าตา กีดกันเยอะ มีผลต่อรายได้ของเรา ดังนั้น ก็ต้องค่อย ๆ ทำ ก่อนหน้านี้ที่เราออกกฎหมายแพลตฟอร์ม หรือ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) ที่ต้องให้แพลตฟอร์มที่เข้าเกณฑ์ทุกรายมาจดแจ้ง เพื่อให้เอื้อต่อการกำกับ ดูแล และช่วยเหลือผู้บริโภค หรือผู้ใช้งานชาวไทย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีอิมแพ็กต์กับคนจำนวนมากอย่างอีคอมเมิร์ซ ตอนนั้นก็มีความกังวลว่าแพลตฟอร์มจะไม่เห็นด้วย

แต่การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง กระชับความสัมพันธ์ก็ทำให้ไม่เกิดปัญหาอะไร อย่างกรณีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากจีน เราคุยกันผ่านสถานทูตจีนไปเลยจะได้เดินไปด้วยกันได้”

แต่ในขั้นต้นจะทำในหน้าที่ก่อน คือทำความเข้าใจมากขึ้น แล้วก็จะได้กระชับความสัมพันธ์กับทางแพลตฟอร์มว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่กังวล

Coregulation ร่วมกันดูแล

ความกังวลอีกอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วง คือสินค้าที่ทะลักเข้าประเทศไม่ได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานอาหารและยา และมาตรฐานอุตสาหกรรม จากประสบการณ์จากอีคอมเมิร์ซรายเดิมมีกรอบการกำกับดูแลร่วมกัน คือช่วยกันออกมาตรฐานปฏิบัติ หรือ Recommendation ให้แพลตฟอร์ม เช่น การเปิดร้านค้าต้องยืนยันตนชัดเจน หากมีการโฆษณาแล้วผิดกฎหมายตามคนรับผิดชอบได้ สินค้าต้องสามารถตรวจสอบได้ถึงต้นทาง ตรวจสอบใบอนุญาต อย.ปลอม หรือ มอก.ได้

แต่ในมุมหนึ่งก็ต้องเข้าใจตัวแพลตฟอร์มก่อนด้วย เนื่องจากผู้ค้า หรือคนซื้อมีจำนวนเยอะมาก สินค้าก็มีหลายล้านรายการ การตรวจสอบทำด้วยมือไม่ได้แน่นอน ต้องทำเป็นระบบอัตโนมัติหมด เช่น อัปโหลดรูปสินค้า หรือโฆษณาแล้วผิดมาตรฐาน ระบบอัตโนมัติจะเทกดาวน์ ลบออกอัตโนมัติ ระบบคัดกรองอัตโนมัติเหล่านี้ แม้แพลตฟอร์มต้องทำ แต่ก็พบว่ามีคนหลบเลี่ยงได้ตลอด สามารถหาช่องว่าง เปลี่ยนรูป เปลี่ยนคำโฆษณา เพื่อไม่ให้ระบบจับได้

“สิ่งนี้เราต้องเวิร์กร่วมกันกับแพลตฟอร์ม อะไรที่ได้รับร้องเรียนแล้วเป็นข้อกังวล จะส่งผ่านไปถึงแพลตฟอร์มเพื่อให้มีการปรับปรุงระบบเสมอ ไม่ให้สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมายหลุดรอดได้ การทำระบบสกรีนนิ่งเหล่านี้มีหลายปัจจัย เรื่องภาพ ชื่อคำอธิบายว่าไปสอดคล้องกับคำในระบบที่ใช้ในการสกรีนนิ่งไหม แต่ที่คุยกัน เขาก็มีกระบวนการในการทำสกรีนนิ่ง แต่ว่าโจรมันก็รู้”

แต่สิ่งที่เราดูคือ เรื่องของการโฆษณา คือต้องดูว่าใครเป็นผู้โฆษณา ต้องรู้ว่าใครไม่ใช่ ว่ามีปัญหาแล้วจับตัวไม่ได้ โฆษณานี้คอนเทนต์นี้ผิดกฎหมาย ต้องยอมรับว่าก็มีขั้นตอนในการทำ ซึ่งเครื่องมือในการสกรีนจะดีไม่ดีขนาดไหน ตรงไหนที่แพลตฟอร์มอาจต้องพัฒนาเพิ่ม ช่วยกันดูแบบ Coregulation

“ชัยชนะ” บอกว่า ปัจจุบันนี้กำลังคุยกับแพลตฟอร์มให้สามารถตรวจสอบสินค้าได้อัตโนมัติ ว่าแบบไหนที่ต้องมี อย. หรือ มอก. มีการตรวจสอบใบอนุญาตสินค้าด้วย

และยังรวมถึงปลายทาง เมื่อมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าไปแล้วมีปัญหา มีการเยียวยา แก้ปัญหาอย่างไร ตามตัวผู้ค้า ตามร่องรอยต้นทางสินค้าได้ไหม เหล่านี้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติ (Recommendation) ที่ต้องช่วยกันทำ ทั้งหน่วยกำกับดูแลและแพลตฟอร์ม

ร่าง Recommendation ที่ให้แพลตฟอร์มดำเนินการตามมาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นผลพวงจากกรอบกำกับดูแลร่วมกัน Coregulation หรือช่วยกันร่างและมั่นใจว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำตามได้ ซึ่งร่างฉบับนี้รับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว จะประกาศใช้กับทุกแพลตฟอร์มภายในช่วง 1-2 เดือนนี้