‘ธุรกิจเรียกรถ’ บุกเมืองรอง แพลตฟอร์มขยับชิงเค้ก 4.6 หมื่นล้าน

app

การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ และการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เร่งการเดินทางกลับเข้าสู่ภาวะก่อนโควิด ทำให้การใช้เทคโนโลยีในการเดินทาง (Ride Hailing) เติบโตก้าวกระโดด ล่าสุด “โบลต์” (Bolt) แพลตฟอร์มเรียกรถน้องใหม่สัญชาติเอสโตเนีย ได้เผยแพร่รายงาน Economic Report สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นกับเศรษฐกิจ แรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง พร้อมคาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2568 ด้วยว่าอาจมีมูลค่ามากถึง 4.6 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจเรียกรถในไทย

“ณัฐดนย์ สุขศิริฐานันท์” ผู้จัดการประจำ โบลต์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจเรียกรถเสริมศักยภาพเมืองและเศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้นส่งผลโดยตรงต่อการใช้จ่ายของประชาชน และนักท่องเที่ยว

ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย มีผู้ใช้ Ride Hailing หรือการเดินทางร่วมกัน (Shared Mobility) สูงที่สุดในโลก โดยในปี 2566 มีผู้ใช้งาน 6.3 พันล้านคน และคาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นล้านคน หรือเพิ่มราว 84% และประเทศไทยถือเป็นผู้นำการเติบโต ตั้งแต่ปี 2556 มีผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตถึง 11 ราย ได้แก่ Grab, Bolt, Hello Phuket Service, Bonku, Asia Cab, AirAsia Super App, inDrive, Maxim, LINE MAN, TADA และ Lalamove ครอบคลุมการให้บริการใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ

จังหวัดที่มีปริมาณการใช้บริการสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหาดใหญ่ ขณะที่เชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

ปัจจุบันสร้างรายได้ให้ผู้ขับขี่กว่า 500,000 คน และใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 10%

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม Ride Hailing ในไทย วัดจากรายได้รวมของผู้ขับขี่ มีมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยในปี 2567 รายได้ผู้ขับขี่ในไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย ค่าแรงขั้นต่ำ 250% (ราว 30,000 บาทต่อเดือน) เป็นผลมาจากอัตราการใช้งานหลายแอปพลิเคชั่น (Multiapping) ของผู้ขับขี่ในไทยมีมากถึง 62% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 56% ช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าถึงเส้นทางและอัตราค่าบริการที่ดีที่สุด อีกทั้งสัดส่วนผู้ขับขี่หญิงมีถึง 7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 4%

ADVERTISMENT

สำหรับจำนวนการเดินทางในเขตเมืองหลักมีมากกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อวัน อัตราการใช้งานเพิ่มขึ้น 90% จากปีก่อนหน้า ในบางเมืองรอง เช่น เชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก

ขณะเดียวกัน ธุรกิจ Ride Hailing ยังนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (การซื้อ-เช่าซื้อ-บำรุงรักษารถยนต์) ราว 55,000 ล้านบาทต่อปี ภาษีที่สร้างรายได้ให้รัฐบาล ประมาณ 33 ล้านบาทต่อปี และการโดยสารผ่านแอป 25% ต่อเดือน นำไปสู่อัตราการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ (สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ)

ADVERTISMENT

ขณะที่จำนวนเที่ยวเดินทางของนักท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชั่นมีถึง 20.18 ล้านเที่ยวในปี 2567 คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายที่ 17,800 ล้านบาท

ตลาดส่งคนแข่งเดือด

การแข่งขันในตลาด “ส่งคน” สะท้อนผ่านการขยายตลาดของแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง อย่าง Lalamove ซึ่งเดิมเน้น “ส่งของ” ออนดีมานด์ ได้เปิดตัว Lalamove Ride บริการรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯและปริมณฑล ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมองเห็นความต้องการในการใช้บริการที่สูงมากขึ้นทุกวัน เช่นกันกับ LINE MAN ที่ขยับจากการเรียกรถแท็กซี่ มายัง “รถยนต์ส่วนบุคคล” เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา

สอดคล้องกับรายงานของ บริษัทวิจัย Statista ที่คาดการณ์ว่ารายได้ตลาดบริการเรียกรถโดยสารของไทยจะสูงถึง 1.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2568 และจะไปถึง 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2571 มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 2.14% และคาดว่าจะมีผู้ใช้ 15.16 ล้านคน ภายในปี 2572

Statista อธิบายเพิ่มเติมถึงปัจจัยเกื้อหนุนตลาดบริการเรียกรถโดยสารในประเทศไทยว่ามาจากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการยอมรับบริการเรียกรถโดยสารที่เพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นมิลเลนเนียล และเจน Z ซึ่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมากกว่า รวมไปถึงการขยายตัวของบริการนอกเมืองใหญ่

ไม่ใช่เท่านั้น การผลักดันของรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการส่งเสริมสังคมไร้เงินสด ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของแพลตฟอร์มเรียกรถ ร่วมด้วยความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของตลาด

ขยายสู่เมืองรอง

อีกหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่กำลังโฟกัสการขยายพื้นที่บริการสู่เมืองรอง และเมืองสำคัญใหม่ ๆ คือ LINE MAN หลังจากเปลี่ยนชื่อบริการจาก “LINE MAN Taxi” เป็น “LINE MAN RIDE” เพิ่มบริการเป็น 3 ประเภท คือ LINE MAN Eco (รถส่วบุคคล หรือแท็กซี่) ระบบจะส่งรถที่ใกล้ที่สุดมาให้ LINE MAN Taxi (เฉพาะแท็กซี่) และ LINE MAN Bike (รถมอเตอร์ไซค์)

ก่อนหน้านี้ “ศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์” รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจบริการด้านออนดีมานด์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า LINE MAN RIDE มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “ราคาถูก ปลอดภัย” คิดค่าบริการถูกกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ราว 10% ทั้งยังเก็บส่วนแบ่งรายได้ (Commission) กับคนขับเพียง 10% ต่ำที่สุดในตลาด เพื่อปิดช่องว่างของธุรกิจแอปเรียกรถ และทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น

ทั้งมีฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานตามพฤติกรรมคนไทย เช่น ฟีเจอร์ Toll Selection ให้ผู้ใช้เจาะจงเลือกเส้นทางตั้งแต่ก่อนเริ่มเดินทางว่าต้องการขึ้นทางด่วนหรือไม่, มีการใช้ Chat Stickers สื่อสารกับคนขับ ไม่ต้องพิมพ์ข้อความ และกำลังจะเปิดให้ชำระเงินผ่าน QR Payment ด้วย

“เราเป็นแอปสัญชาติไทยที่เข้าใจคนไทย จึงออกแบบฟีเจอร์ Localize ได้เต็มที่ ต่างจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่ต้องพัฒนาฟีเจอร์แบบ One Size Fit All ทั้งภูมิภาค”

ทั้งยังตั้งเป้าไว้ด้วยว่าจะขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี โดยในปี 2568 วางไว้ 15-20 เมือง

ดันตลาดรถ EV โตตาม

รายงานของโบลต์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า อุตสาหกรรมเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นช่วยสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านการซื้อรถ การเช่าซื้อ และการบำรุงรักษา โดยคาดการณ์ว่ามีมูลค่า 55,000 ล้านบาทต่อปี

“แกร็บ” (Grab) อีกหนึ่งในผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่ในบ้านเรา ก็มีโครงการ “Grab EV” ให้คนขับเช่ารถ EV ไว้รับ-ส่งผู้โดยสาร มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนคนขับที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากก๊าซเรือนกระจก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนคนขับที่ใช้รถ EV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือการมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาช่วยพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มคนขับแกร็บ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการเช่ายานยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า

ล่าสุดจับมือ 5 พันธมิตรใหม่ ในโครงการ Grab EV ได้แก่ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไบโอ แลป ซัพพลาย จำกัด (Whale EV), บริษัท เอจีอี อีวี พลัส จำกัด, บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท สปาร์ค อีวี จำกัด (Spark EV) เพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนขับ

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนขับแกร็บเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น เช่น โปรแกรม “ผ่อนขับรับรถ” ที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากประวัติในการให้บริการ และให้เช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า BYD Seal รุ่น Dynamic รุ่น Premium และรุ่น AWD Performance ด้วยการผ่อนจ่ายรายวัน เริ่มต้นที่ 1,010 บาท (หักจากการให้บริการในแต่ละวัน ระยะสัญญา 5 ปี ไม่ต้องวางเงินดาวน์), มีโปรแกรม “เช่าครบจบบนแอป” นำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Aion ES มาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MG EP ให้บริการ เป็นต้น