ธุรกิจใหม่ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ถอดวิธีคิด-เบื้องหลัง Postman Cloud

Postman Cloud
ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังดุเดือด “ไปรษณีย์ไทย” พี่ใหญ่วัยย่าง 142 ปี ฝ่าวิกฤตขาดทุนปี 2564-2565 สู่การพลิกทำกำไรในปี 2566 ที่ 78 ล้านบาท และส่งโมเมนตัมเชิงบวกมายังปี 2567 โดยมีกำไรช่วง 9 เดือนแรก 31 ล้านบาท พร้อมไปกับการปรับลุกให้ทันสมัย เพิ่มการจัดการงานหลังบ้าน และทำในสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะทำ เพื่อเลี่ยงสงครามราคา ไม่ว่าจะเป็นการปลุกปั้นสินค้าเฮาส์แบรนด์ เช่น น้ำเปล่า, ข้าวสาร และกาแฟ และการเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลด้วยการร่วมวงกับพาร์ตเนอร์อีก 4 ราย ได้แก่ Sea Group, VGI ในเครือ BTS, เครือสหพัฒน์ และธนาคารกรุงเทพ ยื่นไลเซนส์ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)

ล่าสุดเปิดตัวบริการ “Postman Cloud” เพื่อต่อยอดจุดแข็งด้านโครงข่าย ความชำนาญในพื้นที่ และความคุ้นเคยของบุรุษไปรษณีย์กับผู้อาศัย มาพัฒนาเป็นบริการด้านการสำรวจ และเก็บข้อมูลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานตามที่ต้องการ

3 บริการ Postman Cloud

บริการ Postman Cloud ครอบคลุม 3 ส่วน ประกอบด้วย Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ แบ่งเป็นบริการปักหมุดสถานที่ ทรัพย์สิน หรือสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศ บริการสำรวจสภาพทรัพย์สิน และบริการเก็บเอกสารและยืนยันตัวตนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Checklist+KYC) รวมถึงการเก็บใบสมัคร ตรวจเช็กเอกสาร และการกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง

ถัดมา เป็นบริการ Express บริการรับ-ส่งสิ่งของแบบ Point to Point มีทั้งบริการแบบ Same Day รับสินค้าจากจุดกระจายสินค้าและดำเนินการส่งให้ผู้รับภายในวันเดียวกัน แบบ Next Day Delivery รับสินค้าจากจุดกระจายสินค้าและดำเนินการจัดส่งให้ผู้รับในวันถัดไป และแบบ High-Value Delivery บริการรับ-ส่งสิ่งของที่มีมูลค่าสูง เช่น สินค้าแบรนด์เนม ทองคำ และอื่น ๆ ตามมาตรฐานการควบคุมพิเศษ

สุดท้าย Matching การเชื่อมโยงความต้องการของธุรกิจและลูกค้า ด้วยความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ ซึ่งรู้จักผู้คนในแต่ละพื้นที่ จึงนำเสนอสินค้าหรือบริการของพันธมิตรแก่ลูกค้าได้ตรงใจ เช่น จัดส่งสินค้ากลุ่มผู้สูงอายุให้กับธุรกิจ Health Care

ถอดวิธีคิดและจุดแข็ง

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ความเชี่ยวชาญในพื้นที่ของบุรุษไปรษณีย์สร้างมูลค่าได้อีกมาก โดย Postman Cloud จะเป็นบริการที่ทำให้ใช้ทรัพยากรในการส่งของมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปริมาณการส่งของในแต่ละวันไม่เท่ากัน วันที่ส่งของน้อยก็ทำงานอื่นเพิ่มเติม หรือนำสินค้าต่าง ๆ ไปขายต่อได้ เพิ่มรายได้และคุณค่าของงานบุรุษไปรษณีย์ให้มากขึ้น

ADVERTISMENT

“Postman Cloud เป็นผลต่อเนื่องจากความพยายามในการทรานส์ฟอร์มวิธีทำงานของบุรุษไปรษณีย์กว่า 1 ปีครึ่ง จากที่แต่ละคนรับผิดชอบส่งของคนละอย่างในพื้นที่เดียวกัน ให้เป็น 1 คนส่งได้ทุกอย่างในพื้นที่รับผิดชอบที่เล็กลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เชื่อว่าเขาทำงานอื่นได้นอกจากความถนัดเดิม”

ที่ผ่านมา Postman Cloud มีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกให้ บริษัท บางกอกเทลลิ้ง จำกัด ที่ต้องสำรวจและรื้อถอนตู้บริการเติมเงิน (True Mini Kiosk) กว่า 1 หมื่นตู้ทั่วประเทศ หลัง บมจ.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ยุติการให้บริการ มีผลเมื่อ 1 ธ.ค. 2567 และได้ส่งมอบงานเป็นที่เรียบร้อย

ADVERTISMENT

“Postman Cloud เริ่มให้บริการปี 2567 สร้างรายได้หลักสิบล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 40-50 ล้านบาท และใน 3-5 ปีข้างหน้าจะต้องขยับเป็นหลักร้อยล้านบาทให้ได้”

“ดนันท์” บอกว่า แม้ Postman Cloud จะเกิดจากการใช้ความเชี่ยวชาญเรื่องพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่ว่างานทุกอย่างจะเหมาะกับการใช้ Postman Cloud โดยเฉพาะงานที่ต้องการความเร่งด่วน และมีเวลาค่อนข้างจำกัด

เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของบุรุษไปรษณีย์ คือการส่งของ ส่วนการทำงานอื่นจะเกิดขึ้นเมื่อว่าง หรือทำหน้าที่หลักเสร็จแล้ว ซึ่งบุรุษไปรษณีย์ก็ต้องจัดสรรเวลา และรับผิดชอบงานให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

“หลักการของ Postman Cloud คือทำบางอย่างได้ดีกว่าคนอื่น โดยใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า งานต้องไม่ยาก มีแบบแผนชัดเจน ไม่ทำให้ระบบการส่งของรวน เพราะเกี่ยวข้องกับการทำงานของบุรุษไปรษณีย์ในระบบกว่า 25,000 คน และการที่ไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายของพี่ไปรฯ อยู่ทั่วประเทศ ก็นับเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น”

ร่วมวงสำรวจสำมะโนฯ

“ดนันท์” บอกด้วยว่า ในปีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดำเนินโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะครั้งใหม่ในรอบ 15 ปี เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายสำหรับพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ส่วนไปรษณีย์ไทยจะมีบทบาทในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการเก็บแบบสอบถามจากประชาชนที่ไม่สะดวกตอบด้วยตนเองผ่านช่องทางดิจิทัล ผ่านบริการ Postman Cloud ใน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา มีข้อมูลราว 4 ล้านครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานในเดือน เม.ย. 2568

“ปกติการสำรวจสำมะโนประชากรจะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปี เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ปีนี้มีการใช้วิธีการที่หลากหลาย ทั้งการสำรวจแบบดิจิทัล (Digital Census) SMS และใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ ถ้าการทำสำรวจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าการสำรวจครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า 10 ปี เพราะใช้ต้นทุนในการสำรวจน้อยลง”

ใช้ “ความผูกพัน” สู้ศึกแข่งดุ

เมื่อถามถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ปัจจุบัน “ดนันท์” กล่าวว่า ยังแข่งขันเข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องความเร็วในการส่งสินค้า ซึ่งเป็น KPI สำคัญของฝั่งเอกชน แต่ไปรษณีย์ไทยมองต่าง และให้ความสำคัญกับการที่บุรุษไปรษณีย์จะใช้เวลากับแต่ละบ้านมากขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์

ส่วนการเข้าถึงและรักษาฐานลูกค้าต้องมองแต่ละส่วนแยกกันไป เช่น ลูกค้าที่มาส่งของที่ที่ทำการ คือเลือกแล้วว่าจะใช้บริการของไปรษณีย์ไทย ทำอย่างไรถึงจะรักษาไว้ได้ กลุ่มร้านรวบรวมที่มีหลายแบรนด์ก็ต้องทำให้ร้านเลือก และกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่มองเรื่องราคาและผลประโยชน์เป็นหลัก จะเลือกคนที่ให้ต้นทุนถูก เพราะบวกกำไรต่อชิ้นได้มากขึ้น อีกทั้งแพลตฟอร์มก็ยังเป็นผู้ให้บริการขนส่งเองด้วย

“ถ้าไปรษณีย์ไทยยังทำแค่ขนส่ง วันนี้ลูกค้าเลือกเรา พรุ่งนี้เขาก็เลือกคนอื่น เชื่อว่าผู้ให้บริการหน้าใหม่จะมีเข้ามาอีกเรื่อย ๆ ถ้ารายนั้น ๆ ควบคุมได้ทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือมีสินค้าราคาถูก การสนับสนุนด้านการขนส่งจากต่างประเทศ และเครือข่ายในการกระจายสินค้า ก็อยู่ได้สบาย ๆ”

แม่ทัพไปรษณีย์ไทยทิ้งท้ายว่า การบริหารทรัพยากรในการส่งของอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไปรษณีย์ไทยมีโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกมาก หรือจะทำเป็น Quick Commerce ที่ส่งของตรงถึงลูกค้าในเวลาสั้น ๆ ก็เป็นไปได้ แต่ต้องบริหารจัดการพื้นที่แบบ “Localized Area” หรือส่งในย่านเดียวกันให้ดีมาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการดึงทรัพยากรข้ามพื้นที่จนระบบรวน