ทีวีดิจิทัล…สำลักปัจจัยลบ ลดต้นทุน ประคองตัว

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เป็นข่าวเกรียวกราววงการอีกครั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่า ช่อง 3 เลิกจ้างพนักงานเฉียด ๆ ร้อยชีวิต หลังจากช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีข่าวลักษณะนี้กระฉ่อนมาแล้วรอบหนึ่ง

นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี ที่มีข่าวว่าช่อง 3 เลย์ออฟพนักงาน

งานนี้ร้อนถึง ช่อง 3 ต้องออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร โดยมีการเปิดโครงการเกษียณอายุ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่พนักงาน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่ได้มีเป้าหมายหรือตัวเลขที่ชัดเจน

หลายคนต่างตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับช่อง 3 ที่ถือเป็นแถวหน้าของทีวีดิจิทัล เมื่อรายใหญ่ยังต้องกัดฟันจัดโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงาน แล้วทีวีดิจิทัลค่ายอื่น ๆ ล่ะ ?

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัลวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ว่า เป้าหมายหลักอยู่ที่เรื่องของการลดต้นทุน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ทีวีดิจิทัลมีต้นทุนอยู่ 3 ก้อนใหญ่ คือ ค่าโครงข่าย คอนเทนต์ และบุคลากร
ที่สำคัญ ต้นตอหลักมาจากเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักไม่ได้โตขึ้น และจากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป รวมถึงถูกสื่อออนไลน์แย่งความสนใจ และแย่งเรตติ้งไป จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าโฆษณาได้ และส่งผลให้เม็ดเงินในสื่อทีวีที่แม้จะเป็นสื่อหลักกลดลงตามไปด้วย ซึ่งสวนทางกับจำนวนช่องที่มีมาก

สอดรับกับแหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลรายใหญ่อีกรายหนึ่งที่ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีมาตรการเยียวยามาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้สถานการณ์ทีวีดิจิทัลก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี เม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้โตขึ้น หรือยังคงมูลค่าเท่าเดิม คือ 60,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวหาร หรือจำนวนช่องเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้หลาย ๆ ค่ายต่างพยายามปรับลดต้นทุน ทั้งเรื่องการผลิตคอนเทนต์และบุคลากร

หากย้อนกลับไปจะพบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัลหลาย ๆ ค่ายได้มีการปรับตัว ปรับโครงสร้าง ปรับรูปแบบการบริหารจัดการภายใน รวมทั้งการเลย์ออฟพนักงานเพื่อประคับประคองธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น วอยซ์ทีวี ที่ตอนนี้หันไปรุกตลาดออนไลน์ ตามด้วยนิวส์ทีวี ที่มีการปรับผังสู่ช่องสารคดี เช่นเดียวกัน สปริงค์นิวส์ที่ตัดใจขายหุ้นให้ “ทีวี ไดเร็ค” หรือเมื่อเร็ว ๆ ช่องทีวีดาวเทียม “มันนี่ แชนแนล” ก็ประกาศจะยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากมีเดียเอเยนซี่ระบุว่า ภาพรวมของโฆษณาทีวีไม่ได้โตขึ้น เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าเปลี่ยนรูปแบบโฆษณา อีกทั้งพฤติกรรมการดูทีวีก็เปลี่ยนไป สะท้อนจากเรตติ้งทีวีปีนี้ที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องใหญ่ ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่เรตติ้งแกว่งมาก ซึ่งทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าโฆษณา

ได้มาหลายปีแล้ว ตรงกันข้ามกลับต้องลด แลก แจก แถม เพื่อดึงลูกค้าให้มาลงโฆษณา ซึ่งต่างจากช่วงก่อนมีทีวีดิจิทัลที่ช่องใหญ่สามารถปรับขึ้นโฆษณาเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง

จึงเป็นที่มาของการที่หน่วยงานที่กำกับดูแลทีวีดิจิทัลโดยตรง โดย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ที่กำลังหามาตรการเยียวยาทีวีดิจิทัลอีกรอบ ทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่าย (MUX) เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล 50% ของค่าเช่าโครงข่ายจนถึงปี”65 รวมถึงสนับสนุนในส่วนของภาระที่เกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry จนถึงปี”65 และเร่งดำเนินการเรื่องการวัดความนิยมผู้ชม (เรตติ้ง) แบบมัลติสกรีน เพื่อให้ช่องสามารถนำไปหารายได้เพิ่ม

แต่นั่นก็เป็นเสมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของทีวีไม่ได้โตขึ้น แต่ช่องมากขึ้น สุดท้ายช่องทีวีก็ยังต้องสำลักกับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นต่อ แบบไม่รู้จบ

ปีหน้ากำลังจะมาถึง ทีวีดิจิทัลก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามรสุมเดิม ๆ ต่อไป