ไทยพร้อมแล้วจริงหรือ (1) กับ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ที่มีการเรียกเก็บภาษีอย่างถูกต้อง แต่มองว่ายังไม่เหมาะที่จะนำออกมาในช่วงนี้ ก่อนนี้นโยบายรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ร้านค้าในการชำระเงินซื้อ-ขายสินค้า และปูทางให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่เมื่อกฎหมายนี้ออกมาทำให้เกิดความกังวลและส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลที่ทำธุรกิจและบุคคลธรรมดา ซึ่งหมายถึงผู้ที่ทำการค้าออนไลน์ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเงินตรงตามเงื่อนไขต้องถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร

เมื่อมีเงินฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร (เปรียบเทียบให้เห็นง่ายขึ้น คือ วันละ 8 ครั้งทุกวัน) หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และมียอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ความเคลื่อนไหวทางการเงินนี้นับรวมที่เกิดขึ้นทั้งในสถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น mPay, Rabbit LINE Pay, TrueMoney และผู้ให้บริการชำระเงินต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับทางภาครัฐ

โดยเฉพาะกับแบงก์ชาติ จำเป็นต้องรายงานความเคลื่อนไหวของเงินเหล่านี้ให้กับสรรพากร เพื่อที่สรรพากรจะนำไปประมวลรวมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อคัดเลือกรายบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่ถูกต้อง

จากเดิมที่สรรพากรใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าบุคคลใดควรเสียภาษี แต่หลังจากที่สรรพากรมีข้อมูลที่ได้รับการรายงานจากธนาคารและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์แจ้งเข้ามาแล้ว ก็เหมือนมีข้อมูลที่เป็นตัวยืนยันว่าใครมีรายได้เกินและต้องมีการพึงประเมินในแง่ของภาษี

กฎหมายนี้มีผลกระทบกับใครบ้าง

1.คนที่ทำธุรกิจและเป็นบุคคลธรรมดา เช่น เปิดร้านขายข้าวแกง ขายของ โดยเฉพาะกลุ่มขายของออนไลน์ ซึ่งปกติใช้การขายหน้าเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียซึ่งนิยมชำระเงินออนไลน์โดยส่งเลขที่บัญชีให้ลูกค้าโอนเงิน หากถึงเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ก็เข้าข่ายต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากร

ผู้ที่ทำการค้าบนโลกออนไลน์ และธุรกิจสีเทา เช่น การพนัน โต๊ะบอล ก็ด้วย รวมถึงมนุษย์เงินเดือนที่มีรายรับเข้ามาในบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร หรือทุกบัญชีรวมกันมากกว่า 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมของธุรกรรมเกิน 2 ล้านบาทคงต้องกังวลมากขึ้นแล้ว

ฉบับหน้ามาว่ากันต่อว่ามีใครอีกบ้าง

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!