บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ทางออกปัญหา “ทีโอที-แคท” ?

การประชุม “คนร.” คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในเดือน ม.ค. 2562 จะเป็นอีกการชี้ชะตาครั้งสำคัญของอนาคต 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม อย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) โดยแหล่งข่าวภายในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะนำข้อสรุปและแผนการควบรวมกิจการของ บมจ.ทีโอที และแคท ทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณาของทั้งบอร์ด 2 บริษัท และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของ คนร. เสนอให้ที่ประชุม คนร. ในเดือน ม.ค. 2562 พิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเดินหน้าต่อหรือไม่

“คนร.คาดว่าจะประชุมในวันที่ 7 ม.ค. 2562 ก็จะพิจารณารายละเอียดทั้งหมด ก่อนจะตัดสินใจว่า ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาลงมติได้หรือไม่ ถ้า ครม.ให้เดินหน้าต่อได้ กระบวนการควบรวมกิจการก็จะเริ่มต้นขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้า คนร.เห็นว่าต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมก็มีความเสี่ยงว่า กระบวนการควบรวมอาจจะไม่ทันในรัฐบาลนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเหมือนทุกครั้ง คือ แล้วโครงการนี้ก็จะเงียบหายไป”

สำหรับแนวคิดในการควบรวม “ทีโอที-แคท” ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากข้อเสนอของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางฟื้นฟูกิจการที่ คนร. กำหนดให้รวมทรัพย์สินของทีโอทีและแคท ออกมาตั้งเป็น 2 บริษัทลูก ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC co.)

โดยระบุว่า การควบรวมจะช่วยลดการลงทุนและการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันได้ดีกว่าแนวทางของ คนร. ที่เป็นการเพิ่มองค์กรใหม่ที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นทดแทน

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คนร.ต้องการให้แผนการควบรวมลงลึกไปถึงโครงสร้างองค์กรใหม่ แผนการจัดการบุคลากร รวมถึงการเปรียบเทียบทางการเงินที่ชัดเจนว่า ระหว่างการควบรวมกับไม่ควบรวมนั้น จะก่อให้เกิดศักยภาพในการทำธุรกิจและแข่งขันในตลาดที่แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยากในเวลาที่จำกัด และในสถานการณ์ตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ตัวเลขที่ประเมินออกมาล่าสุด มีความแตกต่างกันในแง่ของรายได้ระหว่างควบรวมกับไม่ควบรวมเพียง 5-10% เท่านั้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่ คนร. หรือ ครม.จะตีกลับแนวคิดนี้ และแนวคิดว่าจะควบรวมหรือไม่ ยิ่งยืดเยื้อยิ่งส่งผลกระทบต่อการวางแผนธุรกิจของแคท เพราะการลงทุนใหม่ต้องชะลอไปทั้งหมด”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.ทีโอทีเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดควบรวม เพราะแต่ละองค์กรมีโอกาส มีปัญหาของตนเองอยู่แล้ว การควบรวมจึงเหมือนยิ่งรวมปัญหาให้เป็นเรื่องใหญ่และแก้ไขได้ยากขึ้น

“ทีโอทีกับแคทมีโอกาสทางธุรกิจเหมือนกัน เพราะปัจจุบันไม่ได้ทำธุรกิจแยกพื้นที่เป็นบริการในประเทศ นอกประเทศเหมือนเมื่อก่อน เมื่อควบรวมกันจึงไม่ได้มีโอกาสเพิ่ม แต่ปัญหาของทั้งคู่กลับยังคงอยู่ และมีปัญหาใหม่จากการควบรวมเพิ่มขึ้นมากอีก ทางที่เหมาะคือควรแยก เอาโอกาสออกไปกองไว้กลุ่มหนึ่ง คือการตั้งบริษัทใหม่ แล้วทิ้งปัญหาไว้ในบริษัทแม่จะดีกว่า แต่ทั้งหมดก็ต้องแล้วแต่นโยบาย”

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์สำคัญกรณีที่คิดจะควบรวม “ทีโอที-แคท” คือ ถ้านำหน่วยงานที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน 2 หน่วยงานมาควบรวมกัน และจะทำให้แข่งขันได้ ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่คิดเฉพาะต้องการลดการลงทุนซ้ำซ้อน หรือเพราะทรัพย์สินซ้ำซ้อนกัน

“การพยายามนำ 2 บริษัทมาควบรวมกัน ผสานเข้าด้วยกันมันเหนื่อย เพราะต้องเอาคนที่วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ประวัติความเป็นมาต่างกัน ต้องใช้เวลา และต้องระวังกับการเสียพลังงานในการทะเลาะกันเองภายใน ซึ่งเรื่องอย่างนี้ถ้ามีเวลาน้อยอย่าไปทำ มันจะวนไปวนมา ใช้เวลาตีกันอยู่ตรงนั้น สุดท้ายองค์กรก็แข่งไม่ได้อยู่ดี”

วิธีการแก้ปัญหาที่เด็ดขาดกว่าคือการเปิดเสรีโทรคมนาคม ให้มีโอเปอเรเตอร์รายอื่นทั้งในหรือต่างประเทศเข้ามาเทกโอเวอร์ “ทีโอที-แคท” ได้ เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ไม่มีความจำเป็นเชิงสังคมที่ต้องมีรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว เพราะมีโอเปอเรเตอร์ 3 รายขยายบริการไปทั่วประเทศ และมีกองทุนของ กสทช. เป็นกลไกช่วยลดช่องว่างในกลุ่มผู้ใช้งานที่ยังขาดแคลน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!