ถกนโยบาย “ดิจิทัล” แก้ปัญหา “คน” ยัน “ดาวเทียม”

งวดเข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งที่รอมานาน แต่ละพรรคการเมืองเดินสายหาเสียงกันเต็มที่ ล่าสุด ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศเปิดเวทีให้โชว์วิสัยทัศน์ “digital economy”

ประชันนโยบาย-งานเร่งด่วน 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า อุปสรรคการพัฒนาไอซีทีของไทย คือ ความเชื่อมั่นในระบบ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการบังคับใช้กฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ “จุติ ไกรฤกษ์” อดีตรัฐมนตรีไอซีที กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนคน การบังคับใช้กฎหมายโดยมีประชาชนตกเป็นเหยื่อ จึงต้องหาทางลดการใช้ดุลพินิจลง รวมถึงยกระดับศักยภาพกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้แข็งแรงกว่านี้

“สร้างคนด้วยการเปิดหลักสูตรออนไลน์ เป็นมาตรฐานวิชาชีพใหม่ทำทันทีได้ใน 6 เดือนแรก อินเทอร์เน็ตทุกหมู่บ้านต้องไปถึงและใช้งานได้จริง พัฒนาศูนย์ไอซีทีชุมชนให้มีทั้ง 10,000 ตำบล จัดสรรคลื่นแบบบิวตี้คอนเทสต์ ให้บริษัทที่มีบริการเพื่อสังคมมากที่สุด”

ด้านพรรคอนาคตใหม่ “ไกลก้อง ไวทยากร” ระบุว่า กฎหมายทำให้นักลงทุนยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน ต้องส่งเสริมสตาร์ตอัพ พัฒนา digital singles market ของอาเซียน เช่น ค่าบริการโทรคมนาคมเป็นอัตราเดียวทั้งภูมิภาค ใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นพื้นที่เรียนออนไลน์ได้ถึงระดับมหาวิทยาลัย

“ฤภพ ชินวัตร” พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า มุ่งลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่จำกัดเฉพาะคนในเมืองใหญ่ เพื่อให้เทคโนโลยีช่วยสร้างเศรษฐกิจ ใช้ศูนย์ไอซีทีชุมชนเป็นพื้นที่แชริ่งอีโคโนมี “แมตชิ่ง” คนที่มีความสามารถในแต่ละด้านเข้าหากัน รวมถึงการเปิดโอเพ่นดาต้าภาครัฐ

ณัฐพงษ์ รอบคอบ” พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจ ฉะนั้น ต้องปลดผู้บริหารด้านไอซีทีที่ไม่มีคุณภาพ นำคนที่เข้าใจเข้าไปแก้ปัญหา ยุบแอปพลิเคชั่นภาครัฐทั้งหมด เหลือแค่ “ไทยแลนด์แอปพลิเคชั่น”

“ทุกวันนี้มีงบประมาณสำหรับแต่ละแอปแยกอยู่เยอะมาก ทำไมไม่รวมเป็นแอปเดียวเพื่อการบริหารงานภาครัฐแบบรวมศูนย์และเกิดบิ๊กดาต้าจริง ๆ สร้างธนาคารไอเดียที่รองรับคน Gen ใหม่ ให้ใช้ไอเดียแลกทุน”

ยืดจ่ายค่าคลื่น-ช่วยทีวีดิจิทัล 

ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า เมื่อเคาะประมูลชนะไปแล้ว แต่ขอเปลี่ยนกติกาภายหลังก็ไม่ยุติธรรมกับคนที่แพ้ประมูล และการยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ทำให้รัฐเสียโอกาส ส่วน 5G อยากผลักดันให้เกิดใน 15 เดือน

“ถ้าจะขอเลื่อนจ่าย ผมไม่ค้าน แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลที่ล้มเหลว เพราะคิดแทนเอกชนมาก แต่คิดแทนประชาชนน้อย”

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า จะยืดจ่ายหรือไม่ ทุกอย่างต้องคุยกันบนพื้นฐานของเหตุผล ส่วนทีวีดิจิทัลต้องยอมรับว่า สถานการณ์ ณ วันประมูล กับวันที่เปิดช่องก็เป็นคนละแบบ จึงควรหารือโดยมีกฎหมายและประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วน 5G ต้องให้เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม

ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า 5G ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นเร็ว ขณะที่การเยียวยาทีวีดิจิทัลต้องว่ากันด้วยเหตุผล เพราะได้รับผลกระทบจาก คสช.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาทิ การปิดช่อง การดึงเวลาไพรมไทม์ แต่การยืดจ่ายค่าประมูลของค่ายมือถือมองว่าไม่ได้มีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา จึงควรเดินตามเงื่อนไขเดิม

ด้านพรรคพลังท้องถิ่นไทกล่าวว่า ทีวีดิจิทัลทั้งหมดได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่น ประเทศชาติไม่ได้ผิด ผิดที่คนวางแผน ถ้าจะมีใครต้องจ่ายดอกเบี้ย คือ คณะกรรมการที่จัดประมูล ส่วนผู้ประกอบการที่ประเมินสถานการณ์ผิดก็ต้องรับด้วยส่วนหนึ่ง

ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติกล่าวว่า ปัญหาทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นก็ต้องแก้ แต่ต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกด้วย ส่วน 5G เป็นเรื่องสำคัญ เพราะยุโรปและอเมริกาก้าวไปแล้ว ไทยจึงควรจะก้าวให้ทัน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอด

บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ-ดาวเทียมแห่งชาติ

ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า โลกเปลี่ยนแล้ว แต่ระบบราชการยังไม่เปลี่ยน ฉะนั้น ต้องปรับรูปแบบให้เป็นเอกชน หารายได้ในหลาย ๆ ทาง ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งความยากของรัฐวิสาหกิจ คือ กฎหมายสหภาพฯ และกำกับรัฐวิสาหกิจไม่เคยเปลี่ยน จึงตามเทคโนโลยีไม่ทัน

“ปัญหานี้ไม่หมู รวมถึงเรื่องดาวเทียม ซึ่งปกติ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) จะอนุมัติวงโคจรให้กับประเทศ จึงอาจยากที่จะยกให้เอกชนทำ แต่ปัจจุบันดาวเทียมทำได้เยอะมาก ฉะนั้นถ้าบริหารจัดการแบบเอกชน นำข้อมูลเชิงพาณิชย์ไปขายเพื่ออุดหนุนงบประมาณของภาครัฐได้”

ตัวแทนพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตราบใดที่รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์เป้าหมาย ก็ยังจำเป็นต้องอยู่ ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติก็มีวัตถุประสงค์ชัดเจน จึงควรย้อนกลับไปดูที่โครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม เพราะต้องเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายที่บางเรื่องเหนือกว่ากำไรและขาดทุน แต่ต้องอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระด้วย

“บมจ.กสท โทรคมนาคม และทีโอที บางอย่างทับซ้อน และบางส่วนขาดทุนจึงต้องเข้าไปแก้ไข ส่วนดาวเทียม ยุคนี้ได้ถูกพัฒนาบริการไปหลายแขนง การแข่งขันเสรีก็จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี แต่อาจยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ”

ด้านพรรคอนาคตใหม่ระบุว่า รัฐวิสาหกิจอย่างทีโอทีและแคทยังมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ปัญหา คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปรับ ทางออก คือ รีดไขมันส่วนเกินออก ทำธุรกิจในรูปแบบของโฮลดิ้งเพื่อดึงนวัตกรรมใหม่มาช่วย เช่น เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพ

ส่วนเรื่องดาวเทียมแห่งชาติ การเปิดให้แข่งขันน่าจะได้ประโยชน์กว่า มหาวิทยาลัยเริ่มผลิตดาวเทียมขนาดเล็กได้ ถ้าส่งเสริมให้มีเทคโนโลยีของตัวเอง แบบสตาร์ตอัพต่างประเทศ

ขณะที่พรรคพลังท้องถิ่นไทกล่าวว่า ปัญหารัฐวิสาหกิจเหมือนกันทุกที่ ด้วยวัฒนธรรมองค์กร กระบวนการที่เชื่องช้า นำมาซึ่งความขาดทุน และคือ ภาษีของคนไทย จึงควรใช้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสนับสนุนสตาร์ตอัพ ผลักดันการเกิดนวัตกรรมใหม่

“ส่วนเรื่องดาวเทียม ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงก็ไม่ต้องก้าวล่วง แต่เชื่อว่าทุกธุรกิจ ถ้าเปิดให้เอกชนทำ มีรัฐคอยหนุนคอยควบคุม จะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้จริง ๆ”


ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติกล่าวว่า อะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ควรจะทำ แต่มองว่าการแข่งขันจะทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ไม่ใช่ให้อยู่แบบเดิม ๆ