ลุ้น สนช.ตั้ง “กตป.” กลไกตรวจสอบ “กสทช.” ที่ถูกลืม

ถ้าไม่มีวาระด่วนแทรกขึ้นมาเหมือนตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 13 มี.ค. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะโหวตเลือก 5 ผู้ที่เหมาะสมจะเป็น “กตป.” คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

โดย กตป.จะเป็นกลไกตรวจสอบ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นอกเหนือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

อลหม่านปัญหาบอร์ด

ADVERTISMENT

นับแต่มีบอร์ด “กสทช.” ชุดแรก 7 ต.ค. 2554 บทบาทของ “กตป.” ที่เคยถูกเรียกขานว่าเป็น “ซูเปอร์บอร์ด” ของ กสทช.ก็แทบไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ กว่าวุฒิสภาจะแต่งตั้งบอร์ดชุดแรกก็ 24 เม.ย. 2556 หลังมี กสทช.เกือบ 2 ปี

ผ่านมาแค่ไม่กี่เดือน กรรมการ “กตป.” จาก 5 คนก็เหลือแค่ 4 คน เนื่องจากประธาน กตป. “พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร” ลาออกไปลงสนามการเมือง “พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์” ที่ขึ้นเป็นประธานแทน ก็ลาออกเมื่อ 1 ธ.ค. 2558 ไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ส่วน นายประเสริฐ อภิปุญญา ก็มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 16/2558 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ให้ระงับการปฏิบัติชั่วคราว ตั้งแต่ 15 พ.ค. 2558

ADVERTISMENT

เหลือแค่ 2 คนที่ทำงานอยู่จนครบวาระในวันที่ 23 เม.ย. 2559 คือ “อมรเทพ จิรัฐิติเจริญ” กตป.ด้านโทรคมนาคม และ “พิชัย อุตมาภินันท์” กตป.ด้านกิจการโทรทัศน์

แถม 19 เม.ย. 2559 ก่อนที่ กตป.ชุดแรกจะหมดวาระที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่กี่วัน ประกาศตั้ง 2 กตป.ใหม่ “แทนตำแหน่งที่ว่าง” ได้แก่ “ปรเทพ สุจริตกุล” เป็น กตป.ด้านกิจการกระจายเสียง และ “วสันต์ ภัยหลีกลี้” เป็น กตป.ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ADVERTISMENT

กลายเป็นปัญหาถกเถียงเรื่องวาระการปฏิบัติงาน ว่าจะเป็น 3 ปีเท่ากับบอร์ดชุดใหม่หรือไม่ จน “วสันต์ ภัยหลีกลี้” ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อ 30 พ.ค. 2559 ขณะที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยได้รับคำตอบกลับเมื่อ 7 ส.ค. 2560 ระบุว่า กรรมการที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาภายหลังจึงต้องมีวาระเท่ากับกรรมการที่ตนได้รับคัดเลือกเข้ามาแทน คือ 23 เม.ย. 2559

และนับตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้มีการสรรหา กตป. ชุดใหม่ขึ้นมาเลย แม้ว่าจะมีการประกาศรับสมัครอยู่ 2 ครั้งคือ ก.ค. 2559
เปิดรับสมัครเข้ารับคัดเลือกใน 4 สาขา และ ก.ย. 2560 เปิดรับ 1 สาขา

ซูเปอร์บอร์ดไร้อำนาจ

เมื่อย้อนกลับไปดูอำนาจตามกฎหมายของ กสทช.ในมาตรา 72 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯให้อำนาจ กตป.ในการตรวจสอบและประเมินผลการดําเนินการและการบริหารงานของ กสทช. และสำนักงาน รวมถึงเลขาธิการ โดยหน่วยที่ถูกตรวจสอบต้องให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้แก่การปฏิบัติงานตามที่ กตป.ร้องขอ แต่ก็ระบุให้ “ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานของ กตป.เป็นไปตามระเบียบที่ กสทช.กำหนด”

จุดอ่อน กม.

จุดนี้ผู้มีส่วนยกร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับแรกอย่าง “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่า “เป็นจุดอ่อนที่ไม่รัดกุมพอ” เพราะทำให้ซูเปอร์บอร์ดต้องไปอยู่ใต้ กสทช.อีกที แม้ว่าตัวบทจะระบุต้องให้ความร่วมมือเมื่อถูกขอมา แต่กลายเป็น “กสทช.ไปขี่ กตป.ไว้อีกที” เพราะกุมการอนุมัติงบประมาณต่าง ๆ ของ กตป.ไว้ในมือ

จึงเป็นอุปสรรคในการทำงานของ กตป.มาตลอด “อมรเทพ จิรัฐิติเจริญ” อดีต กตป. เคยระบุไว้ว่า “ประสาน กสทช. ขอข้อมูลไปก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางเรื่องก็เงียบหาย” แถมยังมีปัญหาเรื่องอัตรากำลัง เงินเดือนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานสนับสนุน

“ต้องรอให้สำนักงาน กสทช.ซัพพอร์ต แต่เราคือคนที่จะต้องไปตรวจสอบ กสทช.นะ แล้วเขาจะซัพพอร์ตเราไหม”

ที่สำคัญคือ กตป.มีอำนาจหน้าที่แค่รายงานผลการตรวจสอบ สุดท้ายแล้ว สนช.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ กสทช.แก้ไขปรับปรุงหรือลงโทษอย่างไร

จากนี้คงต้องรอดูว่าอุปสรรคนี้จะหายไปหรือไม่ เมื่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับล่าสุดที่ สนช.ลงมติเห็นชอบให้บังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อ 24 ม.ค. 2562 และกำลังอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้แก้ไขในส่วนนี้แล้ว

โดยระบุให้ “ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานของ กตป.ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด”

มหากาพย์สรรหาลุ้น 5 กตป.

การสรรหาครั้งใหม่ สนช. ได้โหวต เหลือ 10 คนสุดท้ายเมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา มีคะแนนดังนี้

1.ด้านกิจการกระจายเสียง ผศ.วิชัย โถสุวรรณจินดา อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้ 105 คะแนน นายณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท 86 คะแนน

2.กิจการโทรทัศน์ นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ อดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี 116 คะแนน นายสมยศ เลี้ยงบำรุง อาจารย์พิเศษ สาขานิติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 81 คะแนน

3.กิจการโทรคมนาคม พ.อ.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ กรรมการบริษัท วิทยุการบิน จำกัด 139 คะแนน นายปรเมศวร์ กุมารบุญ อาจารย์พิเศษ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 104 คะแนน

4.คุ้มครองผู้บริโภค นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา อดีตกรรมการฝ่ายกิจกรรมสิทธิผู้บริโภค สมาคมสิทธิผู้บริโภค 128 คะแนน, ผศ.สุทิศา รัตนวิชา อาจารย์พิเศษ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกริก 102 คะแนน

และด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นายไพโรจน์ โพธิไสย อดีตรองเลขาธิการวุฒิสภา 109 คะแนน, พลโทพร ภิเศก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก 90 คะแนน

อ่าน : สนช. เคาะ 5 รายชื่อ “กตป.” บอร์ดตรวจสอบการปฏิบัติงาน “กสทช.”