สนช. เคาะ 5 รายชื่อ “กตป.” บอร์ดตรวจสอบการปฏิบัติงาน “กสทช.”

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีวาระการพิจารณา การเลือกบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (ตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) หรือ “กตป.” ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึงสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.  หลังจากเมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาได้ลงคะแนนเลือกรอบแรกให้เหลือ 10 คนแล้ว

สำหรับการลงคะแนนในวันที่ 13 มี.ค. 2562 สมาชิก สนช. ได้ลงคะแนนเลือกผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 5 ด้าน ให้เหลือเพียงด้านละ 1 คน และเป็นการประชุม “วาระลับ” โดยมีผลคะแนนดังนี้

1.ด้านกิจการกระจายเสียง  นายณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท 111 คะแนน  ผศ.วิชัย โถสุวรรณจินดา อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้ 20 คะแนน

ADVERTISMENT

2.ด้าน กิจการโทรทัศน์ นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ อดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี 127 คะแนน นายสมยศ เลี้ยงบำรุง อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระจา 3 คะแนน

3.ด้านกิจการโทรคมนาคม พ.อ.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ กรรมการบริษัท วิทยุการบิน จำกัด 105 คะแนน นายปรเมศวร์ กุมารบุญ อาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 20 คะแนน

4.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา อดีตกรรมการฝ่ายกิจกรรมสิทธิผู้บริโภค สมาคมสิทธิผู้บริโภค 84 คะแนน, ผศ.สุทิศา รัตนวิชา อาจารย์ประจำพิเศษ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกริก 42 คะแนน

ADVERTISMENT

5.ด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นายไพโรจน์ โพธิไสย อดีตรองเลขาธิการวุฒิสภา 96 คะแนน, พลโทพร ภิเศก ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก 38 คะแนน

สาระสำคัญของอำนาจหน้าที่ของ “กตป.” ตามที่กฎหมายกำหนด คือให้ กตป. มีทั้งหมด 5 คน มีวาระการทำงาน 3 ปี ห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ หากมีกรรมการลาออกให้ที่เหลือคงปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ยกเว้นจะเหลือกรรมการไม่ถึง 3 คน โดยมีหน้าที่ ตรวจสอบ-ติดตาม-ประเมินผล ส่งรายงานที่มีผลการปฏิบัติงาน-ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะของหน่วยที่ถูกตรวจสอบ ให้ กสทช. ภายใน 90 วัน เพื่อให้ กสทช. ส่งต่อ เข้าที่ประชุม สนช.

ADVERTISMENT

ขณะที่ปัญหาการทำหน้าที่ของ กตป. ที่ผ่านมา คือ “ค่าตอบแทน-ค่าใช้จ่าย ของ กตป.” ให้เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด (ตาม มาตรา 71 พ.ร.บ. กสทช. ฉบับปัจจุบัน แต่ฉบับใหม่ที่ สนช. ให้ความเห็นชอบเมื่อ 24 ม.ค. 2562 และกำลังรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ระบุให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : บอร์ดดีอี กำหนด)