กสทช.เฉือนเนื้อ 3 หมื่นล้าน ชุบชีวิต 15 ช่อง “ทีวีดิจิทัล”

ทีวีดิจิทัลแห่คืนช่องจอดำ 7 ช่อง เด็ก-ครอบครัวสูญพันธุ์ กสทช.เฉือนเนื้อกว่า 3 หมื่นล้าน ยอมจ่ายทั้งเงินเยียวยา 7 ช่องที่คืนไลเซ่นส์-ทั้งยกเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายและค่ามักส์ตลอดอายุสัญญา 15 ช่องที่ยังไปต่อ ฟาก 3 ค่ายมือถือยื่นใช้สิทธิ์ยืดหนี้ 900 MHz แต่แทงกั๊กประมูล 700 MHz

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่ “ไบรท์ทีวี” ช่อง 20, “วอยซ์ทีวี” ช่อง 21, “MCOT Family” ช่อง 14, “3 Family” ช่อง 13, “3 SD” ช่อง 28, สปริงนิวส์ ช่อง 19 และ “สปริง 26” ช่อง 26

โดยสำนักงาน กสทช.ได้ย้ำกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้กำหนดมาตรการชดเชยการเลิกจ้างพนักงานให้มากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด เพราะภาครัฐได้ให้เงินเยียวยาจากการคืนช่องไปแต่ละรายเป็นจำนวนไม่น้อย

“เป็นประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงมากว่าจะมีคนตกงานเยอะ จึงอยากให้ช่องทีวีเมื่อได้เงินจากรัฐไปช่วยแล้ว ควรจะต้องจ่ายชดเชยให้พนักงานเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากในระหว่างที่ต้องหางาน ซึ่งคาดว่าอาจจะมีพนักงานได้รับผลกระทบกว่าพันคน”

สำหรับเงินเยียวยาทีวีดิจิทัลจะอยู่ที่ราว 38,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงรายที่คืนช่อง กับช่องที่ประกอบกิจการต่อ ซึ่ง กสทช.ต้องจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินและดาวเทียมให้ด้วย

ส่องบัญชีช่อง “ขาดทุนยับ”

ด้านทีวีดิจิทัลที่ประกาศ “คืนช่อง” ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน และมีรายได้ไม่มากนักตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

“สปริงนิวส์” ช่อง 19 ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (SPTV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) ได้ประเมินว่า การคืนช่องจะทำให้ได้รับเงินสดจาก กสทช. 730.10 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินประมูลช่องที่ไม่ต้องชำระ 219.60 ล้านบาท โดยได้จ่ายเงินประมูลไปแล้ว 878.8 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,318 ล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการที่ผ่านมา “สปริงนิวส์ 19” ขาดทุนมาตลอด โดยในปี 2557 ขาดทุน 111.30 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 34.59 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 211.45 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 19.28 ล้านบาท และปี 2561 ขาดทุน 16.26 ด้านรายได้รวม 4 ปี อยู่ที่ 649 ล้านบาท

“MCOT Family” ช่อง 14 ของ บมจ.อสมท โดยคาดว่าจะได้เงินชดเชยจากการคืนช่องราว 200 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลที่เหลือ 208 ล้านบาท หลังจากที่ได้จ่ายไปแล้ว 393 ล้านบาท จากราคาประมูลทั้งหมด 660 ล้านบาท 4 ปีที่ผ่านมามีรายได้ 109 ล้านบาท แต่ผลประกอบการถูกรวมกันกับช่อง MCOT HD จึงไม่สามารถระบุกำไร/ขาดทุนที่ชัดเจนได้

“VoiceTV” ช่อง 21 คืนช่องโดยคาดว่าจะได้เงินเยียวยากว่า 400 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ 444 ล้านบาท หลังจ่ายไปแล้ว 764 ล้านบาท จากยอดทั้งหมด 1,330 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 4 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 349 ล้านบาท

“ไบรท์ทีวี” ช่อง 20 คาดว่าจะได้เงินเยียวยากว่า 400 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ 431.2 ล้านบาท หลังจากจ่ายไปแล้ว 748 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,298 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 4 ปีอยู่ที่ 551 ล้านบาท

ขณะที่ “3 Family” ช่อง 13 คาดว่าจะได้เงินเยียวยาราว 200 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลที่เหลือ 210.4 ล้านบาท หลังจ่ายแล้ว 396 ล้านบาท จากทั้งหมด 666 ล้านบาท ขณะที่รายได้ 4 ปีอยู่ที่ 490 ล้านบาท ด้าน “3 SD” ช่อง 28 คาดว่าจะได้เงินเยียวยาราว 800 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ 758 ล้านบาท หลังจ่ายแล้ว 1,308.5 ล้านบาท จากทั้งหมด 2,275 ล้านบาท 4 ปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,306 ล้านบาท

ส่วนช่อง “สปริง 26” บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ระบุว่า ขาดทุนสะสมอยู่ราว 2,405.7 ล้านบาท รายได้ 4 ปี 973 ล้านบาท ขณะที่จะได้เงินเยียวยาจากการคืนช่องราว 800 ล้านบาท ไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ 780 ล้านบาท หลังจ่ายแล้ว 1,271 ล้านบาท จากทั้งหมด 2,200 ล้านบาท

กสทช.จ่อควักกว่า 3 หมื่น ล.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินค่าเยียวยาที่ กสทช.ต้องจ่ายให้กับช่องทีวีดิจิทัลรวม 7 ช่องที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตรวมแล้วจะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท ส่วนอีก 15 ช่องทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจดำเนินการต่อจะได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาต เป็นเงินราว 9,757.2 ล้านบาท รวมกับการยกเว้นค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ตลอดใบอนุญาตที่เหลืออีกราว 18,775 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้เงินกว่า 31,000 ล้านบาท

3 ค่ายมือถือ

นายฐากรกล่าวว่า ตามเงื่อนไขที่ระบุในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องการขอใช้สิทธิ์ขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ต้องการขอคืนใบอนุญาต ต้องส่งหนังสือแจ้งความจำนงภายในวันที่ 10 พ.ค. 2562 นั้น ทั้ง 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู ส่งหนังสือขอยืดเวลาจ่ายคลื่น 900 MHz ครบหมดแล้ว แต่ทั้งหมดขอสงวนสิทธิ์พิจารณาการเข้ารับจัดสรรคลื่น 700 MHz หากราคาคลื่นแพงไป

หลังจากนี้ในวันที่ 14 พ.ค. ทางสำนักงาน กสทช.จะนำร่างหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz ออกประชาพิจารณ์ จากนั้นในวันที่ 19 มิ.ย. 2562 จะเปิดยื่นซองขอรับการจัดสรรคลื่น ซึ่งหากรายใดไม่ยื่นขอรับจัดสรร จะถือว่าการขอขยายค่างวดคลื่น 900 MHz เป็นโมฆะโดยอัตโนมัติ

“ที่ค่ายมือถือบ่นกันว่าค่าคลื่นแพงเกินไป ต้องบอกว่าราคาคลื่นยังไม่ได้กำหนด ยังไม่มีใครรู้จะบอกแพงได้อย่างไร ไว้เปิดประชาพิจารณ์ร่างประกาศแล้วค่อยมาว่ากัน แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานการคำนวณมูลค่าคลื่นตามหลักสากล ไม่ใช่ตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ค่ายมือถือบ่น 700 MHz แพง

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอใช้สิทธิ์ขยายงวดจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz แต่ในส่วนของคลื่น 700 MHz ยังต้องรอพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นที่ กสทช.จะประกาศอีกครั้ง

“ราคาคลื่นยังไม่ชัดเจน รู้แค่ว่าอยู่ที่ 25,000-26,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นมูลค่าคลื่นที่แท้จริง หรือเป็นมูลค่าที่ กสทช.บวกเพิ่มจากอะไรสักอย่างไปแล้ว”

ขณะที่นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า กสทช.ควรจะเลื่อนการจัดสรรคลื่น 700 MHz ไปจนกว่าจะมีการจัดทำแผนจัดสรรคลื่นทั้งหมดที่ชัดเจนกว่านี้ ที่ทำให้ทราบว่าจะมีการจัดสรรคลื่นย่านใด เมื่อใด และกำหนดมูลค่าคลื่นอย่างยุติธรรม

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) กล่าวว่า ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการรับคลื่น 700 MHz ทั้งเรื่องราคาและความพร้อมในการนำคลื่นมาใช้ ซึ่งราคาที่แจ้งอย่างไม่เป็นทางการถือว่าสูงมากเกินไป ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในปัจจุบัน หากนำมาให้บริการ 5G

ยืดงวดจ่ายค่าประมูล 900 MHz

สำหรับการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เอไอเอสจะต้องจ่ายเงินในปี 2563 จำนวน 23,269 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายเป็นงวดสุดท้าย 63,744 ล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2568 จะจ่ายงวดละ 8,095 ล้านบาท

ส่วน “ทรู” ปี 2563 จะจ่าย 23,614 ล้านบาท ลดลงจากที่ต้องจ่ายเป็นงวดสุดท้าย 64,433 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2564-2568 จะจ่ายปีละ 8,164 ล้านบาท

ขณะที่ดีแทค เดิมในปี 2563 และ 2564 ต้องจ่ายปีละ 2,151 ล้านบาท ก่อนจ่ายงวดสุดท้าย 32,126 ล้านบาท ในปี 2565 แต่ตามคำสั่ง คสช. จะเปลี่ยนเป็นในปี 2563 จะจ่าย 7,917 ล้านบาท จากนั้นในปี 2564-2570 จะจ่ายปีละ 4,073 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เคลียร์ชัดๆทำไม 7 ช่องทีวีดิจิทัล ‘ไม่ไปต่อ’ เงินเยียวยาล่อใจหวังล้างขาดทุน