ภารกิจ รมต. “ดีอี” คนใหม่ คุมไซเบอร์-ดาต้า-กองทุนพันล้าน

ลุ้นระทึกอย่างต่อเนื่องสำหรับรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คนที่ 2 (หากนับย้อนรวมตั้งแต่ยังคงเป็นกระทรวงไอซีที จะเป็นคนที่ 12) ว่าจะเป็นใครหนอที่มารับตำแหน่งนี้ ซึ่งในยุคที่ยังเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นั้น ถูกจัดเป็นกระทรวงเกรด C เพราะไม่ได้มีบทบาทใดมากนัก งบประมาณที่จะต้องบริหารแต่ละปีก็แค่หลักพันล้านบาทกลาง ๆ ยกเว้นว่าจะมีโครงการพิเศษ ถึงจะมีงบประมาณหลักพันล้านเข้ามาเพิ่ม อาทิ การจัดซื้อสมาร์ทการ์ดในยุคแรก ๆ โครงการแจกแท็บเลต

พอเริ่มแปลงโฉมเป็น “ดีอี” ก็มีงบฯ “เน็ตประชารัฐ” 13,000 ล้านบาท และ “บิ๊กร็อก” อีกราว 2,000 ล้านบาทและแม้งบประมาณโดยสังเขป ปี 2562 จะอยู่ที่ 5,413.4 ล้านบาท แต่ก็ยังมีที่ขอผูกพันข้ามปีอีก 6,224 ล้านบาท ที่สำคัญคือ “งานที่รอ” รัฐมนตรีคนใหม่ ไม่ใช่งาน “เกรด C” แน่นอน

ควบรวม “ทีโอที-แคท” ไปต่อ ?

เร่งด่วนสุดน่าจะเป็นการผลักดัน ควบรวม บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ตั้งเป็น “NT” บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบหลักการแล้ว รอแต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เริ่มกระบวนการควบรวมได้ ซึ่งเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา “ดีอี” เสนอเข้า ครม.แล้ว แต่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

คุม “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้”

อีกงานสำคัญ คือ ภารกิจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งให้ “รัฐมนตรีดีอี” เป็นประธานในคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีหน้าที่รับนโยบายจากบอร์ดชุดใหญ่ คือ “กมช.” ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มาลงมือปฏิบัติ ทั้งการกำหนดมาตรการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศ กำหนดหน้าที่ซึ่งหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (CII) จะต้องปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบ เฝ้าระวัง เผชิญเหตุ ฟื้นฟูและที่สำคัญ คือ เป็นบอร์ดที่มีอำนาจสั่งการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง การกำกับดูแลศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการเป็นประธานบอร์ดบริหารสำนักงาน กมช.

นอกเหนือจากอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ การลงนามในคำสั่งระงับการแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้าข่าย การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา และคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ กรณีที่เกิดการกระทำผิด

ตั้ง พนง. “คุ้มครองข้อมูล”

ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “รัฐมนตรีดีอี” มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ซึ่งจะมีอำนาจและหน้าที่แจ้งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ใดมาให้ข้อมูลหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. รวมถึงตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ “ดีป้า” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ยังมีสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute) อยู่ภายใต้กำกับเพื่อช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเกิดกลไกการวิเคราะห์ขนาดใหญ่

นั่งบอร์ดกองทุนพันล้าน

แต่ภาระงานที่มีมูลค่าสูงที่สุดน่าจะเป็น รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกองทุนนี้นอกจากจะมีเงินอุดหนุนจากรัฐเป็นรายปีแล้ว ยังจะได้รับเงิน 15% ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่สำนักงาน กสทช.จัดขึ้น และอีก 15% ของรายได้ของสำนักงาน กสทช.ด้วย ขณะที่วัตถุประสงค์ในการใช้เงินกองทุนค่อนข้างเปิดกว้างเพื่อสนับสนุนและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในปีงบประมาณ 2561 กองทุนมีวงเงินสำหรับจัดสรรให้ทุนสนับสนุนได้ 1,182 ล้านบาท


นอกจากนี้ รัฐมนตรีดีอียังเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับล่าสุดที่มีบทบาทในการเพื่อกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ให้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยด้วย