ท่อร้อยสาย “กทม.” เรื่องร้อนใต้ดินสะเทือนวงการ

เป็นเรื่องร้อน ๆ ในวงการโทรคมนาคม สำหรับโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กม. วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 27,000 ล้านบาท เพื่อจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง กทม.ได้มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) บริษัทลูกรับช่วงบริหารโครงข่าย และ “ทรู อินเทอร์เน็ต” ผ่านการคัดเลือกจาก KT เข้าบริหารโครงข่ายเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเจรจารายละเอียดเพิ่ม โดย KT ต้องการจะให้จบดีลนี้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า แนวคิดนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะโอนการผูกขาดรัฐไปให้แก่เอกชน แบบ “โอน 2 ต่อ” บวกกำไร “2 ครั้ง” ทำให้ค่าบริการยิ่งแพง กทม.ควรเป็นผู้ให้บริการเอง

ขณะที่ “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ “ท่อร้อยสาย” ใต้ดินรายใหญ่ระบุว่า ทีโอทีได้วางท่อร้อยสายไว้แล้ว 2,500 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพฯ และยังร่วมกับ “การไฟฟ้านครหลวง” ในโครงการ “มหานครอาเซียน” วางท่อร้อยสายสื่อสารคู่กับท่อสายไฟใต้ดิน

“รู้แค่ว่า KT เปิดรับบริษัทเข้ามาเสนอราคาขุดวางท่อ แต่ไม่รู้เรื่องที่เปิดรับคนบริหารท่อ ถ้าถามว่ามีโครงข่ายใหม่ ทีโอทีเสียประโยชน์ไหม ก็คงเสียนิดหน่อย แต่คนที่เสียประโยชน์จริง ๆ คือ ประเทศ จากการลงทุนซ้ำซ้อน ในเมื่อท่อเดิมครอบคลุมอยู่แล้ว พร้อมใช้งานได้ทันที ค่าบริการก็เป็นราคาที่ผู้ประกอบการตกลงร่วมกันกับกระทรวงดีอี การไฟฟ้าฯ ฉะนั้น ทั้งความครอบคลุมและราคาจึงไม่ใช่ประเด็น เพียงแต่ไม่นิยมเพราะพาดสายบนเสาไฟต้นทุนถูก จากนี้ก็คงต้องดูรายละเอียดว่า กทม.จะบังคับให้ต้องใช้บริการเฉพาะโครงข่ายใหม่หรือไม่”

และในฐานะของนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ “มนต์ชัย” กล่าวว่า ในการประชุมสมาคมสัปดาห์หน้า คงจะนำประเด็นนี้หารือกัน

“การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นประโยชน์ แต่เจ้าของท่อจะต้องลดราคาให้เหมาะสม เมืองที่ได้ประโยชน์จากทัศนียภาพ คุณภาพจากบริการที่ดีขึ้นเพราะสายไม่ต้องเสี่ยงภัยบนอากาศ ก็ควรเข้ามาซัพพอร์ตการนำสายลงใต้ดิน องค์กรกำกับดูแลที่นอกจากจะเก็บแต่ค่าธรรมเนียมแล้ว ควรคืนกลับมาให้สังคมด้วยการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ และนโยบายรัฐที่จะต้องชัดเจน”

ขณะที่ “ทรู อินเทอร์เน็ต” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนี้ว่า เป็น 1 ใน 16 บริษัทที่ได้รับจดหมายเชิญ และเป็นเพียงรายเดียวที่ยื่นรับข้อเสนอนี้ เพราะเล็งเห็นว่า เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ ก้าวเป็นสมาร์ทซิตี้ และมั่นใจว่าจะมีเอกชนรายอื่นยื่นข้อเสนอด้วย ทั้งปัจจุบันยังไม่ได้มีการสรุปหรือลงนามในสัญญาใด ๆ พร้อมยืนยันว่าบริษัทยังยึดมั่นในการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

ด้านข้อมูลจาก “กสทช.” ระบุว่า การขอพาดสายสื่อสารโทรคมนาคม ณ สิ้นปี 2561 มีเคเบิลใยแก้วนำแสงทั่วประเทศ 946,293 กิโลเมตร โดยไตรมาส 4/2561 มีการขอพาดสายเคเบิล 29,975 กิโลเมตร ลดลง 7.11% จากไตรมาสก่อน


โดยภาคอีสานมีการลงทุนพาดสายมากที่สุด 7,747 กิโลเมตร รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 5,989 กิโลเมตร และภาคเหนือ 5,674 กิโลเมตร แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่า กรุงเทพฯขอพาดสายเพิ่มขึ้น 143.19% หรือ 162.40% ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจำนวนสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในพื้นที่นี้