“สจล.-หัวเว่ย-จีเอเบิล” จับมือพัฒนาเทคโนโลยี พลิกโฉมการศึกษาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตั้งเป้าการเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล”

วันที่ 15 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมฟอร์จูน 1AB ชั้น3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ มีการแถลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จีเอเบิลและหัวเว่ย

เพื่อร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบเครือข่ายแก่สถาบันการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย ได้เเก่ 100G based Campus Core Network, SDN (Software-defined Network) for Campus and Data Center Convergence และ Educational Cloud Data Center in Container เพื่อพลิกโฉมการศึกษาเข้าสู่ไทยแลนด์ Education 4.0 ยกระดับการเรียนการสอนที่นักศึกษาสามารถบูรณาการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่สังคม บนพื้นฐานโครงสร้างเทคโนโลยีครบวงจร เร็ว และทันสมัยที่สุด ดาดหวังว่าจะนำไปสู่ “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” อย่างเต็มตัวภายใน 5 ปี

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของการยกระดับประเทศ องค์ความรู้ นวัตกรรม คือ วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 องค์ประกอบที่สำคัญก่อนที่จะยกระดับไปได้นั้น คือเรื่องการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างคน สร้างองค์ความรู้ให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคนวัตกรรมองค์ความรู้อย่างแท้จริง สจล. เห็นว่าเป็นความสำคัญ จึงได้ร่วมกับ จีเอเบิลและหัวเว่ย จัดทำโครงการ “ระบบคอมพิวเตอร์ เน็ตเวิร์คที่ดีที่สุด เร็วที่สุดในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย”

ขั้นแรก ศ.ดร.สุชัชวีร์ เผยว่า มีการนำร่องติดตั้งเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วที่สุดในระดับ 100 กิกะบิต เร็วที่สุดที่ลาดกระบังเคยใช้กว่า 10 เท่า พร้อมเครือข่ายไวไฟ 3,000 จุดทั่วสถาบันฯ และยังใช้ SDN (Software-defined network) ซอฟแวร์ที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิ์ภาพ เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงทุกเครือข่ายในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก

อีกทั้งยังมี Educational Cloud Data Center in Container ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เคลื่อนที่ได้ ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 3 เท่า ทำงานได้รวดเร็วกว่า 5 เท่า เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารดาต้า เซ็นเตอร์เหมือนเเต่ก่อน เพียงใส่อุปกรณ์ลงไปในตู้คอนเทนเนอร์ เสียบปลั๊ก สามารถใช้งานได้ทันที ทั้งหมดนี้รองรับการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ยกระดับของการเชื่อมต่อที่รวดเร็วที่สุด

ด้านนายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยว่า หากพูดเรื่องเทคโนโลยี ในปัจจุบันมักเกิดขึ้นกับทุกๆ อุตสาหกรรม หากนำเอาดิจิตอล เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ หรือแม้แต่พนักงานทั่วไป ที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวก ถือเป็นการตอบโจทย์ในส่วนนี้

“โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างนวัตกรรมใหม่เข้ามาขับเคลื่อน โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับ สจล. มีการคัดเลือกเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม มีความกระชับ ซึ่งเทคโนโลยีของหัวเว่ยสามารถตอบโจทย์ได้ครบ จึงได้ร่วมมือกับหัวเว่ยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายชั้นนำของโลกและของไทยในครั้งนี้” นายสุเทพ กล่าว

ดร.จุมพต ภูริทัตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี สารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต่อว่า ไทยแลนด์ 4.0 ทุกคนอาจจะเคยได้ยิน และเป็นคำพูดติดปากในชีวิตประจำวัน ซึ่งพื้นฐานที่จะทำให้เกิดไทยแลนด์ 4.0 จะต้องมีโครงสร้างเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกัน โดยภาคการศึกษาเป็นภาคที่สำคัญ ที่จะสามารถพัฒนาบุคคล เพื่อจะให้พัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่างๆต่อไป

“หากเราสามารถเข้าถึงข้อมูลและเชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยและเครือข่ายฐานข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ทางหัวเว่ยได้เสนอข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด สามารถจัดหา Educational Cloud Data Center ที่สามารถประหยัดเวลาในการติดตั้ง และประหยัดต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดในประเทศไทยที่จัดหาให้ในการศึกษาในขณะนี้ ในส่วนของไวไฟ ที่ครอบคลุมกว่า 3,000 แห่ง จะทำให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลการศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลาได้เร็วที่สุด”

อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวทำให้ หัวเว่ยนำเอาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ดีที่สุดเข้ามาใน สจล. เพื่อเป็นสะพานเพื่อเชื่อมต่อการศึกษาไปสู่โลกดิจิทัลและปรับปรุงคุณภาพการสอนให้มีประสิทธิภาพ สะดวก และมีอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วมากที่สุด