ไอบีเอ็มคว้าแชมป์ “สิทธิบัตร” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 เฉพาะปี 2562 มีมากถึง 9,262 ฉบับ

Reuters

ไอบีเอ็มเผยยอดสิทธิบัตรปี 2562 มากถึง 9,262 ฉบับ มากสุดในหมู่บริษัทสหรัฐต่อเนื่องเป็นปีที่ 27  จัดครบทั้งด้านเอไอ บล็อกเชน คลาวด์ ซีเคียวริตี้

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมานักวิจัยของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ มากถึง 9,262 ฉบับ ถือเป็นบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิบัตรมากที่สุด ส่งผลให้บริษัทครองตำแหน่งผู้นำสิทธิบัตรต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 ครอบคลุมเทคโนโลยีสาขาสำคัญต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บล็อกเชน คลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และซิเคียวริตี้

โดยเฉพาะ ด้านเทคโนโลยีคลาวด์นักวิจัยไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรกว่า 2,500 ฉบับ ซึ่งรวมถึงสิทธิบัตรเกี่ยวกับวิธีการจัดการร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์มการประมวลผลทั้งในและนอกระบบคลาวด์ ด้วยวิธีการทำงานร่วมกับพอร์ทัลแบบรวม  ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถย้ายสู่แพลตฟอร์มคลาวด์แบบไฮบริดได้อย่างง่ายดาย

ขณะที่ด้านเอไอ ที่ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรกว่า 1,800 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวิธีการสอนให้ระบบเอไอเข้าใจและสามารถแยกแยะความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ และความหมายโดยนัยของข้อความหรือวลีบางคำผ่านการวิเคราะห์เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังเป็นผู้นำสิทธิบัตรด้านบล็อกเชน ซึ่งรวมถึงสิทธิบัตรหลายฉบับที่ได้จากการปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายบล็อกเชน โดยหนึ่งในเทคนิคที่ได้รับสิทธิบัตรคือ การช่วยต่อต้าน การโจมตีด้วยการส่งข้อมูลซ้ำ (Replay Attack) ซึ่งเป็นลักษณะที่ผู้โจมตีคัดลอกและใช้ข้อมูลลายมือชื่อจากธุรกรรมรายการหนึ่งบนบล็อกเชน เพื่อทำธุรกรรมอื่นบนบล็อกเชนในภายหลังทั้งที่ไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งยังได้รับสิทธิบัตรด้านซิเคียวริตี้ ครอบคลุมถึงการบุกเบิกการเข้ารหัสแบบโฮโมมอร์ฟิค (Homomorphic Encryption) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถทำงานกับข้อมูลที่เข้ารหัสโดยไม่จำเป็นต้องถอดรหัสนั้นก่อน  รวมถึงสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการบนพื้นฐานของลายมือชื่อสำหรับฟังก์ชันการเข้ารหัสข้อความแบบโฮโมมอร์ฟิค ซึ่งช่วยให้มั่นใจในเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลแบบคลาวด์ หรือควอนตัมคอมพิวติง ทั้งหมดนี้จะนำสู่การแก้ไขปัญหาท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่ธุรกิจและสังคมของเรากำลังเผชิญอยู่  โดยนับแต่ปี พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 140,000 ฉบับ  เป็นผลจากการมีส่วนร่วมของนักวิจัยไอบีเอ็มกว่า 8,500 คน ที่อยู่ใน 54 ประเทศ”