พับแผนประมูลคลื่น3500MHz กสทช.มั่นใจ5G’เอไอเอส-ทรู’สปีดแรงพอ

“เอไอเอส-ทรู” ใจร้อน พร้อมจ่ายค่าคลื่น 5G งวดแรกหวังชิงขึ้นแท่นผู้นำ ฟาก “กสทช.” พับแผนประมูลคลื่น 3500 MHz หวั่นเสียราคา หลัง “ดีแทค” เข้าประมูล 5G แบบเสียไม่ได้ เปิดทาง 2 เจ้าใหญ่ตุนคลื่นเต็มประสิทธิภาพ “ฐากร” ประกาศโยนบอร์ดชุดใหม่ตัดสินใจ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 19 ก.พ. 2563 เสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณารับรองผลการประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G ที่ได้จัดขึ้นเมื่อ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะแจ้งมติบอร์ดอย่างเป็นทางการให้กับผู้ชนะประมูลแต่ละรายนำเงินประมูลงวดแรกมาชำระภายใน 90 วัน

“ทั้งเอไอเอสและทรูได้ประสานมาแล้วว่า พร้อมจะจ่ายเงินประมูลงวดแรก เพื่อให้ กสทช.ออกใบอนุญาตใช้คลื่นให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย เพราะแต่ละรายต้องการเป็นผู้ให้บริการ 5G รายแรก โดยในส่วนคลื่น 2600 MHz เมื่อจ่ายเงินประมูลงวดแรกที่ 10% ของราคาไลเซนส์ และได้รับใบอนุญาตแล้วก็พร้อมจะใช้งานได้ทันที แม้ว่าบอร์ด กสทช.จะไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับตัวเลขเงินเยียวยาจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ก่อนกำหนดให้ บมจ.อสมท เพราะถือเป็นคนละส่วนกัน เรื่องคลื่นขณะนี้พร้อมใช้งานได้ทันที เนื่องจาก อสมท คืนคลื่นมาแล้ว ส่วนเรื่องเคลียร์กับ อสมท ก็จะเป็นหน้าที่ของ กสทช.เอง”

แต่ในส่วนคลื่น 700 MHz ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเรียกคืนคลื่นทั้งหมด คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ 1 เม.ย.นี้ ผู้ชนะการประมูลจึงสามารถเลือกชำระเงินประมูลงวดแรกหลังคลื่นพร้อมใช้งานก็ได้ แต่ในช่วงคลื่นที่ “เอไอเอส” เลือกไว้นั้น มีบางส่วนพร้อมจะใช้งานได้ทันที หาก “เอไอเอส” ต้องการรีบติดตั้งอุปกรณ์ก็สามารถมาชำระเงินงวดแรกเพื่อขอรับใบอนุญาตได้ทันที

ส่วนคลื่นย่าน 26 GHz นั้น เงื่อนไขการประมูลกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายต้องชำระเงินค่าประมูลทั้งหมด 100% ภายใน 1 ปี ฉะนั้นหากใครต้องการใช้คลื่นเร็วก็รีบมาชำระเงินได้ทันที หลังได้รับแจ้งมติบอร์ด กสทช.รับรองผลการประมูลอย่างเป็นทางการ

ส่วนการประมูลครั้งนี้ที่ “ผิดความคาดหมาย” ทั้งการแข่งราคาคลื่น 700 MHz อย่างดุเดือดถึง 20 รอบ มากกว่าที่หลายฝ่ายคาด หรือการเสนอราคาย่าน 2600 MHz ที่จบอย่างรวดเร็วในรอบที่ 2 ต่างจากที่ประเมินว่าจะมีการสู้กันดุเดือด นั้น เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า เป็นดุลพินิจของผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะวางกลยุทธ์ในการให้บริการ 5G

โกยเงินเข้ารัฐแสนล้าน

สำหรับผลการประมูล 5G ที่เพิ่งจัดขึ้นนั้น “เอไอเอส” โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ชนะการประมูลคลื่นย่าน 700 MHz 1 ใบอนุญาต (2×5 MHz) ในราคา 17,154 ล้านบาท คลื่นย่าน 2600 MHz 10 ใบอนุญาต (100 MHz) ในราคา 19,561 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz 12 ใบอนุญาต (1200 MHz) ราคา 5,345 ล้านบาท รวมมีภาระค่าคลื่น 5G เป็นเงิน 42,060 ล้านบาท

“ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะการประมูลคลื่นย่าน 2600 MHz 9 ใบอนุญาต (90 MHz) ราคา 17,872.88 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz 8 ใบอนุญาต (800 MHz) ในราคา 3,576.88 ล้านบาท รวมแล้ว “ทรู” ต้องจ่าย 21,449.6 ล้านบาท

“ดีแทค” โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ประมูล 26 GHz 2 ใบอนุญาต (200 MHz ) ราคา 910.4 ล้านบาท

“แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม ชนะประมูลคลื่น 700 MHz 2 ใบอนุญาต ในราคา 34,306 ล้านบาท

และ บมจ.ทีโอที ประมูลคลื่น 26 GHz 4 ใบอนุญาต ในราคา 1,795 ล้านบาทรวมแล้ว “กสทช.” มีรายได้ส่งเข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลอด 7 ปี กสทช. จัดประมูลคลื่นสำหรับให้บริการในกิจการโทรคมนาคม และกิจการโทรทัศน์ ส่งเงินเข้ารัฐ 560,713 ล้านบาท แบ่งเป็นฝั่งโทรคมนาคมราว 5.4 แสนล้านบาท

พับแผนประมูล 3500 MHz

ขณะที่การจัดประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกใช้ให้บริการ 5G เพราะมีอุปกรณ์รองรับมากที่สุด ทั้งก่อนนี้โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่างเรียกร้องให้ กสทช. รีบนำมาประมูล และเลขาธิการ กสทช.เคยระบุว่า จะนำออกประมูลในช่วงปลายปี 2563 นั้น

ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กล่าวว่า คงต้องพับแผนการประมูลออกไปก่อน เพราะคลื่น 3500 MHz อยู่ภายใต้สัมปทานไทยคม ซึ่งจะสิ้นสุด 11 ก.ย. 2564 หากจะนำมาประมูลก่อนและให้เปิดใช้งานได้เลยก็ต้องเรียกคืนคลื่น และต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรทัศน์ดาวเทียมอีกราว 3,000 ล้านบาท

“เดิมตั้งใจจะจัดสรรคลื่นให้มีโอเปอเรเตอร์ 3-4 ราย สามารถเปิดให้บริการ 5G ได้ เพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันและผู้บริโภคมีทางเลือก แต่เมื่อดีแทคไม่สนใจจะเข้าประมูล ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในคลื่น 2600 MHz เอไอเอส และทรู จึงได้คลื่นย่านนี้ไปมากถึงรายละ 100 MHz และ 90 MHz เพียงพอสำหรับให้บริการ 5G แล้ว ถ้าเอาคลื่น 3500 MHz ก็อาจจะไม่สนใจแล้ว เพราะทั้งคู่ก็เพิ่งลงทุนจ่ายค่าประมูลไปก้อนใหญ่ เอาไว้รอบอร์ด กสทช.ชุดใหม่มาพิจารณาว่าจะจัดประมูลเมื่อไร ก็อาจจะรอให้หมดสัมปทานไทยคม ก.ย. 2564”

เอไอเอสเสริมแกร่งยึดเบอร์ 1

ด้านแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า การที่ “เอไอเอส” ทุ่มประมูลให้ได้คลื่นมากที่สุดนั้นเห็นได้ชัดว่า ต้องการบุกหนักเป็นผู้นำตลาด ด้วยการตุนคลื่นให้ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง “ทรู” ให้มากที่สุด

ทั้งยังเป็นการลดจุดอ่อนของเอไอเอสที่มีค่าเฉลี่ยคลื่นต่อจำนวนลูกค้าทั้งหมดน้อยกว่าคู่แข่ง เพราะเดิมทั้งเอไอเอสและทรู ปริมาณคลื่นใกล้เคียงกัน แต่ “เอไอเอส” มีลูกค้าถึง 42 ล้านคน แต่ “ทรู” มีลูกค้าเพียง 30 ล้านคน ทำให้การใช้งานบนโครงข่ายหนาแน่นกว่า จึงมีผลต่อสปีดการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ต