
ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 การประชุมออนไลน์ “e-Meeting” กลายเป็นสิ่งสำคัญ และล่าสุดเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาราชกิจจานุกเบกษาได้ประกาศ “พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563” ซึ่งทำให้การประชุมออนไลน์ “ที่มีผลตามกฎหมาย” เป็นไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
โดยได้ประกาศ “ยกเลิก” ประกาศ คสช. ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเท่ากับเป็นการ “ยกเลิก” เงื่อนไขที่ระบุให้ e-Meeting ที่มีผลทางกฎหมายต้องมีผู้เข้าร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมอยู่ที่เดียวกัน และผู้เข้าร่วมประชุมอยู่ประเทศไทย รวมถึงห้ามใช้ e-Meeting กับการประชุมลับ
เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดโรค ไม่สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม และ ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน
ดังนั้น e-Meeting จึงสามารถใช้ได้กับการประชุมที่ต้องการผลตามกฎหมาย หรือกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่าง ๆ รวมทั้งยังใช้ได้กับการประชุมของภาครัฐ และภาคเอกชน
เพียงแต่ระบบจะควบคุมการประชุมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน security ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กำหนด ต้องมีระบบให้สามารถลงคะแนนได้ทั้งแบบเปิดเผยและการลงคะแนนลับในการจัดประชุมจะต้องให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนก่อนร่วมประชุม ในระหว่างการประชุมต้องมีระบบการสื่อสาร 2 ทาง มีการจัดทำรายงานการประชุม มีการบันทึกเสียงหรือทั้งภาพและเสียงตลอดเวลาการประชุมอย่างมีมาตรฐานด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ มีการจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ (log file) ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงต้องให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนสามารถดูข้อมูลการประชุมที่กำลังนำเสนอในที่ประชุมผ่านเครื่องหรืออุปกรณ์ของตนเองได้ตลอดระยะเวลาการประชุม
ข้อยกเว้นที่ห้ามใช้การประชุมแบบ e-Meeting จึงมีเพียงการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ