ย้อนเส้นทาง ‘กสทช.-ม.44’ ถึงเวลา ‘พ้นวาระ’ บอร์ดชุดแรก ?

นับตั้งแต่ 7 ต.ค. 2554 ที่ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 11 คน ให้เป็นบอร์ดชุดแรก และ “ชุดเดียว” จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ “จำนวน” ลดน้อยลงเหลือเพียง 6 คน เหตุเพราะ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตประธานบอร์ด พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า กสทช.ด้านนิติศาสตร์ อายุครบ 70 ปี ต้องเกษียณตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนนายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านนิติศาสตร์ ลาออกไปเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ลาออกไปลงสนามการเมือง ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติเพราะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีความผิด (คดีชุมนุมปีนสภาค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ : สนช.)

แม้ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ จะระบุวาระตำแหน่งแค่ 6 ปี เหตุเพราะมีกฎหมายพิเศษ อย่าง “มาตรา 44” ยุติการสรรหาบอร์ดใหม่ ถึง 4 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อปี 2558 ที่เป็นการสรรหาทดแทนบอร์ดที่ลาออก (สุทธิพล) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่โหวตเลือกผู้ที่ถูกเสนอชื่อรายใดเลย จนทำให้หัวหน้า คสช.ต้องใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 8/2558 ให้กรรมการ กสทช. เท่าที่เหลือทำงานต่อไป โดยไม่ต้องคัดเลือกบุคคลใดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ต่อมาก็มีคำสั่งที่ 75/2559 ระงับการคัดเลือกบุคคลและการสรรหาเพื่อเสนอชื่อเป็น กสทช. ทดแทนผู้ที่เกษียณ โดยระบุว่า เนื่องจาก สนช.กำลังมีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เกี่ยวกับคุณสมบัติและวิธีการสรรหา ที่ต่างไปจากเดิม จึงให้บอร์ดชุดปัจจุบันทำหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะมีกรรมการเหลือไม่ถึง 6 คน หรือกฎหมายใหม่ประกาศใช้

จนเมื่อ มิ.ย. 2560 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเริ่มมีกระบวนการสรรหาบอร์ดใหม่ในช่วง ม.ค. 2561 แต่สุดท้ายก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติ เป็นที่มาของคำสั่ง คสช.ที่ 7/2561 ระงับกระบวนการสรรหา เพื่อให้มีแนวทางแก้ปัญหาในการได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความสามารถที่เหมาะสม โดยให้บอร์ดเท่าที่เหลืออยู่ทำงานต่อไป

ท้ายสุดในปี 2562 ก็ยังมีการใช้ ม.44 อีก 2 ฉบับ คือ คำสั่ง คสช.ที่ 7/2562 และ 8/2562 เพื่อปลดล็อกปัญหาที่กรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันใกล้จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งจะทำให้บอร์ดที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ โดยสาระสำคัญของคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ คือ ให้กรรมการที่เหลืออยู่ยังคง “ปฏิบัติหน้าที่” ต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะมี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือก เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือจนกว่านายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผ่านมาจนใกล้จะครบ 9 ปี สถานะของบอร์ดชุดแรกและชุดเดียวเริ่มสั่นคลอน แม้ว่า พ.ร.บ.ใหม่จะยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่มีวี่แววว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. ให้ “เลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่” ขึ้นทำหน้าที่รักษาการไปพลางระหว่างแก้ พ.ร.บ. โดยจะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาสั่งเริ่มกระบวนการสรรหาทันที เพราะหากจะรอแก้กฎหมายใหม่ให้เสร็จจะยิ่งช้าเกินไป เนื่องจากอาจจะใช้เวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย

“มีความเห็นตรงกันที่ต้องการให้มีกรรมการ กสทช.ชุดใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะมีทั้งเรื่อง 5G ประมูงคลืนการขับเคลื่อนโทรคมนาคม และอีกหลายเรื่อง ถ้าให้บอร์ดชุดปัจจุบันที่หมดวาระไปนานแล้ว และรักษาการไปนาน ๆ ตามคำสั่ง คสช. ก็อาจจะมีปัญหากับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดสุญญากาศ โดยอาจจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ผู้ได้รับการสรรหา กสทช.แล้ว หากพ้นจากตำแหน่งเพราะ พ.ร.บ.ใหม่ประกาศใช้ ให้กลับมาสรรหาได้ใหม่”

นับเป็นการส่งสัญญาณที่เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บ ก่อนที่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ก.ค. 2563 พอดี