รมว.ดีอีเอส แจงเฟซบุ๊ก “ถ้าจะอยู่ด้วยกันต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดีอีเอส ตั้งโต๊แถลงข่าวกรณีเฟซบุ๊ก ยืนยัน การดำเนินการนี้เป็นไปตามกฎหมาย 

กลายเป็นประเด็นสุดร้อน เมื่อสื่อต่างชาติหลายสำนัก รายงานว่า เฟซบุ๊ก เตรียมดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อคัดค้านคำขอของรัฐบาลไทยที่ให้บล็อกการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

วันที่ 26 สิงหาคม 2663 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ตั้งโต๊แถลงข่าวกรณี ‘เฟซบุ๊ก’ ว่า เรายืนยันว่า การดำเนินการนี้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ได้ลิดรอนสิทธิใคร แต่ทำเพื่อถือปกป้องอธิปไตยไซเบอร์ของไทยที่เข้ามาอย่างรวดเร็วแบบไม่มีอะไรกั้น และถ้าไม่ทำก็จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 15 วันก่อนหน้านี้ ดีอีเอส ได้ส่งจดหมายแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลไปยังสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซด์ต่าง ๆ รวม 1,129 ราย (URL) เนื่องจากผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่ง เฟซบุ๊ก เป็นหนึ่งในนั้น และได้รับความร่วมมือที่ดีในการลบข้อความ และเพจต่างๆ ตามจดหมายที่ได้แจ้งไป ก่อนวันที่ 24 ส.ค. 2563 ซึ่งจะครบกำหนด 15 วัน

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนประเด็นที่ว่า กรณีนี้อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของ เฟซบุ๊ก นั้น รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ถ้ากฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่แค่ ‘เฟซบุ๊ก’ ที่จะไม่เข้ามาลงทุน แต่บริษัทอื่น ๆ ก็คงไม่เข้ามาลงทุนด้วย แต่ถ้าไม่พอใจอะไรแล้วไม่เข้ามาลงทุน ก็คงห้ามไม่ได้ เพราะถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

“กระทรวงฯ ขอย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีคำสั่งศาลอย่างถูกต้อง มิได้เป็นการข่มขู่ใดหรือกลั่นแกล้งอย่างใด”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก 1,024 ราย แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 661 ราย ยูทูบ 289 ราย ทวิตเตอร์ 69 ราย และเว็บอื่น ๆ 5 ราย โดยให้ความมั่นใจว่า มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฎิบัติตามคำสั่งศาล และกระทรวงฯ ไม่ได้เลือกปฎิบัติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี จากวานนี้ (25 ส.ค. 63) เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ว่า หลังจาก Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่า เป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อม เพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ และกรณนี้ ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง