e-Bike หนึ่งธุรกิจมาแรงช่วงโควิด

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก VanMoof
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ช่วงวิกฤตโควิด นอกจากธุรกิจ e-Commerce ที่ยอดขายพุ่งกระฉูดแล้ว ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างน่าอัศจรรย์ไม่แพ้กันนั่นคือ e-Bike หรือจักรยานไฟฟ้านั่นเอง

ล่าสุดสตาร์ตอัพเจ้าของแบรนด์ e-Bike ชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์อย่าง VanMoof ก็เพิ่งระดมทุนมาได้ 40 ล้านเหรียญสบาย ๆ

ในสายตาสาวก VanMoof เปรียบเหมือนเป็น Tesla แห่งวงการ e-Bike เพราะมีดีไซน์ที่ล้ำสมัยและมีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มลูกเล่นในการใช้งานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความปลอดภัย เช่น มีการติดระบบระบุพิกัด (geotagging) ไว้บนรถทุกคันมีระบบล็อกล้ออัตโนมัติทันทีที่จอดและมีเสียงสัญญาฯดังขึ้นทุกครั้งหากใครพยายามจะเคลื่อนย้ายรถ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีม “Bike Hunters” ที่คอยช่วยลูกค้าตามหารถที่หายไปด้วยการแกะรอยจากพิกัด geotagging โดยสามารถหารถเจอถึง 75%

VanMoof ก่อตั้งในปี 2009 แต่มาโตเปรี้ยงปร้างจริง ๆ ช่วงโควิดเพราะผู้บริโภคต้องการเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีโอกาสติดเชื้อสูง ทำให้จักรยานไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนแรงปั่นแล้วยังมาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่เพิ่ม “สปีด” ให้สูงขึ้น และทำให้ไปไกลขึ้นกว่าเดิมซึ่งเหมาะทั้งสำหรับคนที่ต้องการออกกำลังกายและคนทั่วไปที่ต้องการใช้จักรยานเพื่อ “การเดินทาง” อย่างแท้จริงเช่น คนที่เดินทางวันละ 10-20 กม. และไม่ได้เป็นนักปั่นอาชีพ การใช้ e-Bike จึงกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมเพราะไม่หักโหมและทารุณกล้ามเนื้อขาจนเกินไป

ADVERTISMENT

ความจริงความนิยมในตัว e-Bike นั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะหลายประเทศมีการรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ที่ทำให้การจราจรติดขัดและเป็นการลดการใช้พลังงานไปในตัว

นอกจากนี้ การเติบโตของบริการ bike sharing มีส่วนผลักดันให้ e-Bike เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างจีน อเมริกา และยุโรป

ADVERTISMENT

มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด e-Market ทั่วโลกจะโตขึ้น 9.01% จาก 21.1 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 38.6 พันล้านเหรียญในปี 2025

ปัญหาของตลาด e-Bike คือ แบตเตอรี่มีอายุงานสั้น (2-3 ปี) บวกกับตัวรถมีราคาแพง (รุ่นท็อปอาจมีราคาตั้งแต่ 3,000-5,000 เหรียญ) ทำให้เป็นอุปสรรคในการเจาะตลาดแมส แต่ตอนนี้หลายค่ายพยายามผลิตรถรุ่นใหม่ในราคาที่ถูกลง (เช่น VanMoof ที่รถรุ่นใหม่ตกคันละ 1,900 เหรียญ) อีกทั้งหลายประเทศรัฐบาลมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้ e-Bike มากขึ้น เช่น การลดภาษี

อุปสรรคสำคัญ คือ ปัญหาเรื่องพื้นผิวการจราจรที่ไม่เอื้อต่อการขี่จักรยานอย่างปลอดภัย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะขี่จักรยานออกมาร่อนตามท้องถนน

ปัญหานี้ต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการ แต่ถ้ารัฐบาลมีความจริงจังและมุ่งมั่นทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ดังเห็นได้จากตัวอย่างในหลายประเทศที่มีการปิดถนนบางเส้นเพื่อให้เป็นถนนคนเดิน มีการเพิ่มเลนจักรยานเป็นสัดส่วนตามเส้นทางหลัก

มีกองทุนพัฒนาและวิจัยสำหรับนวัตกรรมใหม่ ๆ มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตลดราคาเพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดแมสแทนที่จะกระจุกตัวอยู่แค่ในกลุ่มคนมีเงิน และโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยหวังว่าคนจะยังใช้จักรยานในการสัญจรต่อไปแม้จะผ่านยุคโควิดไปแล้วก็ตาม