เปิดมุมคิด…”ฟู้ดแพนด้า” ทำไมลดค่า “จีพี” ไม่ใช่ทางออก

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อเนื่องสำหรับความเหมาะสมของการเก็บค่าจีพี (gross profit) หรือค่าคอมมิสชั่นที่ร้านค้าต้องจ่ายให้เจ้าของแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ทั้งหลาย ซึ่งเรียกเก็บกันอยู่ที่ 30-35% (ยกเว้นโรบินฮู้ดที่ไม่เก็บ)

โดยเฉพาะในจังหวะที่บรรดาร้านอาหารต่าง ๆ ต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการสร้างรายได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่ายังไม่นับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่ล้วนแล้วแต่เป็นบิ๊กเนมทั้งสิ้น

หนึ่งในผู้เล่นหลักในสมรภูมิฟู้ดดีลิเวอรี่มีชื่อ “ฟู้ดแพนด้า” รวมอยู่ด้วย

โควิด-19 ทุบกำลังซื้อ

“อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการดีลิเวอรี่แพลตฟอร์ม “ฟู้ดแพนด้า” กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

ทำให้ยอดการสั่งอาหารผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้น แต่เป็นเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกที่มีมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จึงหันไปทำอาหารรับประทานเองมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

สะท้อนจากยอดการสั่งซื้ออาหารสดของแพนด้ามาร์ทที่เติบโตขึ้น 2 เท่า ทั้งยังพบด้วยว่าพาร์ตเนอร์ร้านอาหารปิดตัวลง 20,000-25,000 แห่ง ขณะเดียวกันก็มีการเกิดขึ้นของร้านค้าใหม่ ๆ จำนวนมากโดยปัจจุบันมีร้านค้าที่แอ็กทีฟหรือมียอดสั่งซื้อทุกวันราว 140,000 แห่ง

อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่มาจากการเก็บค่าจีพีจากร้านอาหาร และพนักงานส่ง (ไรเดอร์) ขณะที่ต้นทุนหลักอยู่ที่การทำการตลาดผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น การมีคูปองส่วนลดให้ผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อ

“โควิด-19 รอบแรกเป็นตัวกระตุ้นให้ดีมานด์ในตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่โตก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์แรก ก่อนจะค่อย ๆ ลดลง เพราะเมื่อผู้บริโภคมีเวลามากขึ้นก็หันมาปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน ขณะที่โควิดระลอก 3 ยอดจะพุ่งขึ้นแค่ช่วงสัปดาห์แรก เพราะเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลง”

ย้ำลดค่าจีพีไม่ใช่ทางออก

ผู้บริหารฟู้ดแพนด้าย้ำว่า การลดค่าจีพีให้ร้านค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 อาจไม่ใช่ทางออก และแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาว โดยมองว่าการเพิ่มทางรอดให้ร้านอาหาร

คือทำอย่างไรเพื่อช่วยร้านค้าเพิ่มยอดขาย เพราะในมุมของแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ รายได้หลักมาจากค่าคอมมิสชั่น ขณะที่ต้นทุนหลัก คือ การทำแคมเปญการทำตลาด ผ่านการแจกคูปองส่วนลดในรูปแบบต่าง ๆ

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสั่งอาหารดังนั้นหากต้องลดค่าคอมมิสชั่น หมายถึง รายได้หลักลดลง ส่งผลต่อเม็ดเงินในการทำตลาด ทำให้การแจกคูปองหรือส่วนลดต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคจะลดลงตามไปด้วย

“เราเองก็ต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเหมือนที่ร้านอาหารทำเพื่อความอยู่รอด หากมีการลดต้นทุนการทำตลาดก็จะส่งผลถึงยอดการสั่งอาหารก็จะน้อยลงตามไปด้วยกระทบรายได้ของร้านอาหารและไรเดอร์

ขณะที่มูลค่าการซื้อของผู้บริโภคก็จะลดลงเช่นกัน เพราะเงินในกระเป๋าน้อยลงจากวิกฤตโควิด ทั้งหมดกระทบอีโคซิสเต็มของฟู้ดดีลิเวอรี่ ดังนั้น แนวทางการลดค่าจีพีให้ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงเป็นแผนระยะสั้นในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ในระยะยาวเราไม่แนะนำ เพราะจะกระทบอีโคซิสเต็มฟู้ดดีลิเวอรี่ทั้งหมด”

โฟกัสสร้าง “อีโคซิสเต็ม”

“อเล็กซานเดอร์” กล่าวด้วยว่า การออกกฎมาควบคุมราคาค่าคอมมิสชั่นของภาครัฐ เป็นสิ่งที่ทุกแพลตฟอร์มพร้อมให้ความร่วมมือ แต่การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่สร้างมากว่า 10 ปีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

เนื่องจากโครงสร้างและหลายส่วนที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อน หากต้องการเปลี่ยนทุกฝ่ายต้องร่วมมือ และมีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่กระทบต่อข้อต่อของอีโคซิสเต็มฟู้ดดีลิเวอรี่ทั้งไรเดอร์ ร้านอาหาร และผู้บริโภค

เป้าหมายสำคัญของ “ฟู้ดแพนด้า” คือ การสร้างอีโคซิสเต็มฟู้ดดีลิเวอรี่ให้แข็งแรง ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือร้านอาหาร ไรเดอร์ และผู้บริโภค โดยเป็นตัวกลางเชื่อมอีโคซิสเต็มของฟู้ดดีลิเวอรี่เข้าหากันมาเกือบ 10 ปี ปัจจุบันเปิดให้บริการ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

“10 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตไปพร้อมกับชุมชน ทั้งการสร้างอีโคซิสเต็มแรกด้วยการสร้างงานให้ไรเดอร์ โดยฟู้ดแพนด้ารับสมัครไรเดอร์กว่า 1,000 คนทุกสัปดาห์ และเชื่อมร้านอาหารเข้าไปถึงลูกค้า เพื่อสร้างรายได้ให้พาร์ตเนอร์ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”

งัดแคมเปญระยะสั้นช่วย SMEs

ในวิกฤตโควิด-19 รอบล่าสุด “ฟู้ดแพนด้า” จัดแคมเปญ Support SMEs ด้วยการลดค่าคอมมิสชั่นที่เรียกเก็บร้านค้าพาร์ตเนอร์ในพื้นที่สีแดงเหลือ 25% เป็นเวลา 1 เดือน

นอกจากนี้ผู้ค้ารายใหม่ 15,000 รายแรกที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้าจะได้รับการงดเว้นค่าคอมมิสชั่นในเดือนแรก ปัจจุบันฟู้ดแพนด้าให้บริการใน 12 ประเทศทั่วเอเชีย

จึงได้มีส่วนช่วยเอสเอ็มอีในทุก ๆ ประเทศ โดยในประเทศไทยถือว่าใช้เงินลงทุนมากที่สุดในการให้ความช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ร้านค้า เนื่องจากมีจำนวนพาร์ตเนอร์มากที่สุด

“หลายคนอาจมองว่าการเก็บค่าคอมมิสชั่นร้านอาหารของแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ค่อนข้างสูง ซึ่งโดยส่วนตัวต้องบอกว่าแล้วแต่มุมมอง บางร้านอาจมองว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขาย ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่น 30-35% ให้เจ้าของแพลตฟอร์ม”