LGBTQ กับการต่อสู้ ผ่านเทคโนโลยี

ธงสีรุ้งโบกสะบัด
Photo by JOE KLAMAR / AFP
TecH Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี เราจะเห็นธงสีรุ้งโบกพลิ้วปลิวไสวเพื่อฉลองความสำเร็จของชาว LGBTQ ที่ต่อสู้กันมายาวนานกว่าจะได้รับการยอมรับในสังคม

ย้อนไปปี 1969 ที่รักร่วมเพศคือ “อาชญากรรม” ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปี 1994 ที่ WHO ยอมรับเป็นครั้งแรกว่ารักร่วมเพศไม่ใช่ “ความผิดปกติทางจิต” ต้องถือว่าวันนี้สังคมชาว LGBTQ ก้าวมาไกลมาก จน Pride Month ที่มีขึ้นทุกเดือน มิ.ย. กลายเป็นแคมเปญที่มีคนทั่วโลกเข้าร่วมและติดตามจำนวนมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟันเฟืองสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในไต้หวันหรือกฎหมายรักร่วมเพศในอินเดียไปจนถึงการรณรงค์ในอเมริกาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานล้วนถูกขับเคลื่อนอย่างมีพลังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งสิ้น

ความล้ำสมัยและการเปิดกว้างของเทคโนโลยีทำให้แทบไม่น่าเชื่อว่า ยุคหนึ่งชาว LGBTQ ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ มาวันนี้ชาว LGBTQ มีเครื่องมือออนไลน์ให้เลือกใช้มากมายทั้งเพื่อการติดต่อสื่อสาร การรณรงค์ การระดมทุน ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัย

ด้านการสร้างการยอมรับมี LGBTQ+ experiment เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและตอบคำถามทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งมีชุมชนออนไลน์อย่าง EmptyClosets ให้สมาชิกพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการ “come out”

หรือเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองให้คนในครอบครัวหรือสังคมได้รับรู้ ไปถึงมี TheTribe ชุมชนออนไลน์ที่ให้กำลังใจสมาชิกที่กำลังมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ด้านการสร้างการรับรู้ในสังคมมีการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับ LGBTQ ออกมาจำนวนมากที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในสื่อใต้ดินหรือสื่อทางเลือกเหมือนสมัยก่อน แต่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มชื่อดังระดับโลก

ไม่ว่าจะเป็น “Steven Universe” การ์ตูน LGBTQ เรื่องแรกจากค่าย Cartoon Network ที่กวาดรางวัล GLAAD สำหรับการนำเสนอภาพของชาว LGBTQ ได้อย่างเท่าเทียมและถูกต้อง

แต่เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม ที่ด้านหนึ่งช่วยจุดประกายให้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่อีกด้านก็เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเช่นกัน

ปัจจุบันยังมีถึง 13 ประเทศที่รักร่วมเพศคืออาชญากรรมร้ายแรงที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตและยังมีมีอีกหลายประเทศที่ชาว LGBTQ ยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะไม่รู้จะโดนจับเข้าคุกเมื่อไหร่ หรือแม้แต่ในสังคมที่ดูเปิดกว้างก็ยังมีข่าวชาว LGBTQ ถูกกีดกันในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ของชาว LGBTQ ยิ่งเลวร้ายในสังคมเผด็จการที่กีดกันประชาชนเพียงเพราะมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีที่แตกต่าง เช่น จีนที่มีกวาดล้างคอนเทนต์ของชาว LGBTQ Weibo อย่างหนัก

หรืออียิปต์ที่ส่งเจ้าหน้าที่แอบแฝงตัวเข้าไปใน Grindr แอปยอดนิยมของ LGBTQ เพื่อรวบรวมหลักฐานมาลงโทษในฐานที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดกฎหมาย นี่ยังไม่รวมกฎหมายเซ็นเซอร์ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีของคนชายขอบในอีกหลายประเทศ

นอกจากนี้ยังมีพวก homophobia หรือ transphobia ที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการตามจิกด่าประจานรสนิยมทางเพศของคนอื่นไม่หยุดหย่อน ซึ่งพบเห็นได้มากเป็นพิเศษในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมาย hate crime หรือไม่มีการบังคับใช้ กม. อย่างจริงจัง

แม้แต่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเองก็มีรายงานถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศในที่ทำงานออกมาเป็นระยะ

ดังนั้นถึง Pride Month ประจำปีนี้กำลังจะสิ้นสุดลง แต่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศยังต้องดำเนินต่อไป การเปลี่ยนแบนเนอร์เป็นธงสีรุ้งหรือเปลี่ยนโลโก้โปรไฟล์


เฉพาะเดือน มิ.ย.อาจไม่สำคัญเท่ากับการพร้อมใจกันรณรงค์ให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐาน ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจละเมิดได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถานศึกษา โรงเรียน หรือที่ทำงานก็ตาม