เจาะอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย บริการดิจิทัลรุ่ง-ฮาร์ดแวร์ร่วง

Digital Service

โควิดเร่งทุกสิ่งโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับแผนทรานส์ฟอร์มองค์กรให้เร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกอีกแล้ว

สอดรับกับผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ประจำปี 2563 ล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสถาบันไอเอ็มซี

เจาะลึกรายอุตสาหกรรม

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลมุ่งไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลักทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน

โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาคำนวณร่วมกัน พบว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยในปี 2563 มีมูลค่ารวม 650,514 ล้านบาท โตขึ้น 7.76% จากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 603,695 ล้านบาท โต 1.01% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวม 597,677 ล้านบาท

และคาดว่าปี 2564 จะโตอีก 10% หรือมีมูลค่าแตะ 700,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 800,000 ล้านบาท ในปี 2565 โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งสำคัญกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น

ในกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (software) ปี 2563 มูลค่ารวมอยู่ที่ 131,297 ล้านบาท ลดลง 2.61% แบ่งเป็นการนำเข้า 33,341 ล้านบาท ลดลง 18.06% ผลิตใช้ในประเทศ 95,687 ล้านบาท เติบโต 4.45% ส่งออก 2,269 ล้านบาท ลดลง 9.75% อินเฮาส์ 17,888 ล้านบาท ลดลง 2.45%

แม้มูลค่าตลาดจะมีแนวโน้มลดลง แต่หากเจาะลงไปในรายละเอียดจะพบว่ามีโอกาสเติบโตจากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับหลายองค์กรเปลี่ยนมาใช้คลาวด์มากขึ้นแต่ยังไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ และคาดว่าการเก็บภาษีอีเซอร์วิสที่เริ่มใช้เมื่อต้นเดือน ก.ย.จะส่งผลให้การเก็บข้อมูลครอบคลุมมากขึ้น

ภาษีอีเซอร์วิสเพิ่มปัจจัยบวก

“การเสียภาษีอีเซอร์วิสของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อาจส่งผลให้ตลาดบริการซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้จดทะเบียนในไทย จึงมีมูลค่าส่วนหนึ่งยังไม่ได้นำมานับรวมในการสำรวจ แต่ตั้งแต่ ก.ย.มีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์กรมสรรพากรกว่า 50 ราย

ดังนั้น ปีนี้เป็นต้นไปน่าจับตาทิศทางตลาดว่าจะเติบโตก้าวกระโดดกว่าปี 2563 เชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานบริการ”

ดีมานด์คอมพิวเตอร์โตรับ WFH

ข้ามมายังอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (hardware and smart devices) มีมูลค่ารวม 274,381 ล้านบาท ลดลง 8.34% จากปี 2562 จำนวนชิ้นอยู่ที่ 985,880,312 ชิ้น เพิ่มขึ้น 1.89% จากปี 2562

ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วง (peripheral) มูลค่า 100,898 ล้านบาท คิดเป็น 230,696,599 ชิ้น อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) มูลค่า 22,871 ล้านบาท คิดเป็น23,461,169 ชิ้น คอมพิวเตอร์ มูลค่า 65,308 ล้านบาท

คิดเป็น 3,943,030 ชิ้นพรินเตอร์ มูลค่า 5,083 ล้านบาท คิดเป็น1,166,308 ชิ้น และสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ มูลค่า 80,222 ล้านบาท คิดเป็น 726,613,206 ชิ้น

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนทั้งการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ รวมถึงเอกชนที่ต้องลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจ

โควิดบูมดิจิทัลเซอร์วิส

ปิดท้ายด้วยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (digital services) มีมูลค่า 244,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.42% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 169,536 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาด Online-media, e-Logistics และ e-Retail

โดยการสำรวจในปี 2563 ได้เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรมใหม่คือ ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพ (health tech) และผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (EdTech) ทำให้มีการสำรวจเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 8 อุตสาหกรรม

ประกอบด้วย 1.กลุ่ม e-Retail มูลค่า 45,340 ล้านบาท 2.กลุ่ม e-Logistics มูลค่า68,174 ล้านบาท 3.กลุ่ม e-Tourism ที่ 7,691 ล้านบาท 4.กลุ่ม Online-media ที่ 100,529 ล้านบาท 5.กลุ่ม e-Advertise ที่ 3,407 ล้านบาท 6.กลุ่ม FinTech มูลค่า 18,423 ล้านบาท 7.กลุ่ม health tech ที่ 314 ล้านบาท สุดท้ายคือกลุ่ม EdTech ที่มีมูลค่า 958 ล้านบาท

ผศ.ดร.ณัฐพลประเมินว่า อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลยังมีการเติบโตสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยเปลี่ยนไปหันมาให้ความสำคัญกับการใช้บริการดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และคุ้นชินกับวิถีนิวนอร์มอล รวมเข้ากับนโยบายภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง ชิม ช้อป ใช้ เราชนะ ฯลฯ

แย่งตัวบุคลากรดิจิทัล

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า อุตฯนี้มีปัญหาขาดกำลังคนดิจิทัล ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งดีป้า ได้ร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เร่งอัพสกิล รีสกิลให้แก่คนสายดิจิทัล

หากเจาะลงรายละเอียด พบว่า บุคลากรอุตฯซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มี 100,000 คน แบ่งเป็นบุคลากรสายดิจิทัล 50,000 คน และพนักงานด้านอื่น ๆ เฉลี่ย 50,000 คน ส่วนบุคลากรอุตฯฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีจำนวนกว่า 300,000คน เพิ่มขึ้น 53.24%จากปี 2562 แต่บุคลากรสายดิจิทัลมีจำนวนกว่า 60,000 คน และกว่า 70% เป็นพนักงานการตลาดและการขาย

อย่างไรก็ตามก็ยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังคนในสายงานนักพัฒนา (Developer) ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 10,000 คน เพราะเกิดการแย่งกำลังคนระหว่างอุตฯดิจิทัลและอุตฯอื่นๆที่ประยุกต์ใช้ดิจิทัลในธุรกิจมากขึ้นช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้ค่าตัว

โดยเฉพาะบุคลากรในสายโปรแกรมเมอร์พุ่งถึงหลักแสน สุดท้ายบุคลากรอุตฯบริการด้านดิจิทัลมีจำนวน 80,000 คน เพิ่มจาก17.9% จากปี2562 โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจ e-Logistics ซึ่งเป็นกลุ่มไรเดอร์ที่ถูกรวมเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมเมื่อปี 2562 แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ยังกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มโปรแกรมเมอร์

หนุนปี 2565 โตยกแผง

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี เสริมว่า โควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปี 2563 ที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการ cloud computing มากขึ้น

อีกบางส่วนหันไปซื้อตรงจากต่างประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมูลค่าการนำเข้าลดลงและคาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตลดลง แต่ในทางกลับกันมูลค่าการนำเข้าฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมาที่มีการชะลอตัวทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่

ส่วนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลยังเติบโตสูงเพราะผู้บริโภคหันมาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และคาดว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกกลุ่มจะมีการกลับมาเติบโตอีกครั้ง