ปรากฏการณ์ “คนเป่านกหวีด” เขย่าบัลลังก์ “บิ๊กเทค”

คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปรากฏการณ์ “คนเป่านกหวีด” ในซิลิคอนวัลเลย์ มีวิวัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะ “เสียง” จากพนักงานตัวเล็ก ๆ ที่กล้าออกมาเปิดโปงความลับอันเลวร้ายของนายจ้างผู้ทรงอิทธิพลที่นับวันจะมีพลังมากขึ้น อาจไม่ถึงขั้นเป็น “แจ็กผู้ฆ่ายักษ์” ในชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อย “เสียง” ของพวกเขาก็ไม่สามารถทำให้จมหายไปเหมือนในอดีต

การปรากฏของ “ฟรานเซส เฮาเกน” อดีตพนักงานของเฟซบุ๊กในฐานะ “คนเป่านกหวีด” รายล่าสุดแห่งซิลิคอน วัลเลย์ ตอกย้ำปรากฏการณ์นี้ได้เด่นชัด เพราะทุกถ้อยคำที่เธอเปล่งออกมาไม่เพียงเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก แต่ยังได้รับ “การรับฟัง” อย่าง “ตั้งใจ” จากนักการเมืองและสังคมทั่วไป

ระดับ “เสียง” ของ “ฟรานเซส” ที่ไม่ได้ดังเกินกว่าเดซิเบลของคนปกติ แต่แรงสั่นสะเทือนของมันทำให้ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ต้องรีบออกมาโพสต์แก้ตัวให้บริษัทมือเป็นระวิง เหตุที่ทำให้เสียงเป่านกหวีดครั้งนี้ทรงพลังมาจากเอกสารกองโตที่ฟรานเซสเปิดเผยออกมานั้นมากด้วย “น้ำหนัก” ของ “ข้อเท็จจริง” ที่ยากจะปฏิเสธได้ เพราะเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยฝ่ายวิจัยภายในของเฟซบุ๊กเอง

อีกเหตุผลมาจากการที่บิ๊กเทคมีพฤติกรรมไม่น่าไว้ใจตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนสังคมเริ่มตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้

แต่ผู้เป่านกหวีดก็มี “ราคา” ที่ต้องจ่ายเช่นกัน

การโดนแฉกลับจากทีมพี.อาร์.ระดับโลก การโดนขุดคุ้ยประวัติมาตีแผ่ การตกเป็นเป้าสายตาของสื่อทั่วโลก การโดนตีตราว่าเป็นนักแฉที่อาจทำให้บริษัทอื่นไม่กล้าจ้างไปทำงานด้วย ล้วนเป็นสิ่งที่ “ฟรานเซส” ต้องเผชิญ แต่ดีที่วันนี้เธอไม่ได้สู้เพียงลำพัง เพราะมี “รุ่นพี่” อีกหลายคนยังคงต่อสู้กับบิ๊กเทคไปพร้อมกับเธอ

ภายในสัปดาห์เดียวกับที่ “ฟรานเซส” เป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก มีหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ถือว่าเป็น “หมุดหมาย” ที่สำคัญของเหล่า “ผู้เป่านกหวีด” ในแคลิฟอร์เนียนั่นคือ การที่ผู้ว่าการรัฐประกาศออกกฎหมายใหม่ภายใต้ชื่อว่า “Silences No More Act” เพื่อปกป้องสิทธิของพนักงานในการออกมาเปิดโปงการกระทำผิดของนายจ้าง โดยห้ามนายจ้างนำสัญญาการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ (nondisclosure agreement) มาปิดปากลูกจ้างอีกต่อไป

กฎหมายนี้เป็นผลมาจากการผลักดันของ “อิโฟมา โอซามา” อดีตพนักงานของ Pinterest ที่เคยออกมาเปิดโปงพฤติกรรมการเหยียดเชื้อชาติภายในองค์กรเมื่อกลางปีก่อน

หลังจากลาออก “อิโฟมา” ต้องเผชิญความกดดันนานาชนิด ทั้งการต่อสู้ทางกฎหมาย การโดนขุดประวัติมาโจมตี ความสูญเสียความเป็นส่วนตัว ความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยไปจนถึงการสูญเสียรายได้และสิทธิประโยชน์ที่เคยได้จากการเป็นพนักงานองค์กรใหญ่

เธอใช้เวลาเป็นปีในการรวบรวมหลักฐานพร้อมสัมภาษณ์อดีตพนักงานนับพันคนในวงการเทค เพื่อเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายมาคุ้มครองพวกเขาจากการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดและการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมใด ๆ ของนายจ้างที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือผิดหลักธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ ผู้เป่านกหวีด “รุ่นพี่” รายนี้ยังจัดทำคู่มือ “The Tech Worker Handbook” เพื่อช่วย “รุ่นน้อง” ในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเปิดตัวพร้อมกับการประกาศใช้กฎหมาย “Silenced No More” เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

เนื้อหาหลักแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลและคำแนะนำในการเตรียมพร้อมด้านกฎหมาย การรับมือกับสื่อ การรักษาความปลอดภัย และการบอกเล่า “เรื่องราว” จากปากของ “ผู้เป่านกหวีด” จริง ๆ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้พนักงานในวงการเทครายอื่นที่อาจกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน

“อิโฟมา” บอกว่า เป้าหมายของเธอไม่ใช่เพื่อกระตุ้นให้คนออกมา “เป่านกหวีด” แต่เพื่อบอกว่าพวกเขามี “ออปชั่น” อะไรในมือบ้าง และหากตัดสินใจแล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรและมีความช่วยเหลือใดบ้างที่พวกเขาพอจะพึ่งพาได้

การที่พนักงานตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะตัดสินใจเปิดโปงบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสูญเสียที่จะตามมาทั้งในแง่รายได้และอนาคตในการทำงาน ดังนั้น อย่างน้อยพวกเขาก็ควรมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ความพยายามของ “อิโฟมา” ได้รับการยกย่องจาก “ผู้เป่านกหวีด” รุ่นพี่อีกหลายรายรวมทั้ง “เอริก้า เชง” อดีตพนักงาน Theranos ที่เปิดโปงนวัตกรรมลวงโลกของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส” ไปจนถึง “เชลซี กราซสัน” ที่ฟ้อง “กูเกิล” อดีตนายจ้างว่ามีการเลือกปฏิบัติกับคนท้อง โดยเชลซีบอกว่าการผลักดันกฎหมาย “Silenced No More” เป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากจะทำสิ่งเดียวกันในรัฐวอชิงตัน ดี.ซี.ด้วย


คู่มือ “The Tech Worker Handbook” ของอิโฟมาอาจเป็นเพียงคู่มือไม่กี่หน้า เทียบไม่ได้เลยกับทรัพยากรมหาศาลและทีมทนายความราคาแพงของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่สร้างความรู้สึกของความเป็น “ชุมชน” ให้กลุ่มผู้เป่านกหวีดรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้สู้เพียงลำพัง ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการต่อสู้ระหว่าง “มนุษย์ตัวเล็ก” กับ “ยักษ์” แม้ยักษ์จะมีแต้มต่อสูงกว่าชนิดเทียบไม่ติด แต่ก็พอทำให้ผู้เป่านกหวีดรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่ไม้ขีดไฟที่จุดตัวเองเพื่อส่องแสงให้เห็นภัยมืดในองค์กรยักษ์ใหญ่แล้วก็ปล่อยให้ดับมืดไปเองตามยถากรรม แต่ยังมีคนในชุมชนที่พร้อมรับฟังและเป็นแรงใจให้พวกเขาอยู่เช่นกัน