“ไลน์” ติดสปีดโซเชียลคอมเมิร์ซอัพสกิลดิจิทัล “แฟชั่นไทย”

ไลน์แฟชั่น

“ไลน์” ย้ำเทรนด์ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” โตติดลมบน ผุดโปรเจ็กต์ “LINE FASHION ANNUALE” หนุนแบรนด์แฟชั่นไทยโกดิจิทัล เล็งขยับขยายความช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มร้านอาหารต่อ

นางสาวทราย จารุเสน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เอสเอ็มอี ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า โควิดทำให้ผู้บริโภคไทยคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง ร้านค้าต่าง ๆ กลับมาเปิดได้ตามปกติแล้ว แต่พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ยังโตขึ้น

โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 270,000 ล้านบาท ช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซอย่างไลน์มีสัดส่วนถึง 62% ของอีคอมเมิร์ซรวม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า จากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และร้านค้าเองก็ย้ายมาบนออนไลน์มากขึ้น

ผลกระทบโควิดทำให้แบรนด์และร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาเปิดร้านบนไลน์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้ LINE OA ประมาณ 4 ล้านบัญชี กลุ่มสินค้าที่เข้ามาใช้ LINE OA สูงที่สุด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสุขภาพความงาม แฟชั่นและร้านอาหาร ส่วนไลน์ช้อปปิ้งกลุ่มสินค้าแฟชั่นเป็นกลุ่มที่มียอดการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 1

“ไลน์ในฐานะที่มีอีโคซิสเต็มได้นำเครื่องมือการตลาดที่มีเข้ามาช่วยเหลือแบรนด์ต่าง ๆ เช่น โครงการ LINE FASHION ANNUALE” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มแฟชั่น”

ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปีที่ผ่านมาระบุว่า มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอไทยสูงถึง 200,000 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดโควิดยอดการส่งออกลดลง ไลน์ในฐานะที่มีเครื่องมือ ด้านการทำตลาดดิจิทัล จึงสร้างโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการแฟชั่นไทยให้สามารถสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ผ่านการคัดเลือก 14 แบรนด์ ซึ่งไลน์ให้แต่ละแบรนด์มาไลฟ์สดผ่าน LINE @lineshoppingth ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้กึ่งเกมโชว์กับภารกิจแข่งขันแต่งตัวมิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับจากทั้ง 14 แบรนด์ เพื่อสร้างเวทีแจ้งเกิดผลงานพรีคอลเล็กชั่นจาก 14 แบรนด์แฟชั่นไทย อีกทั้งยังได้ให้ 14 แบรนด์คัดเลือกสินค้า 3 คอลเล็กชั่นที่เกิดขึ้นในโครงการนี้มาขายบนไลน์ช้อปปิ้งด้วย

“จุดอ่อนแฟชั่นไทยคือ ไม่มีพื้นที่ให้พัฒนาทักษะและฝีมือ ขณะที่เอกลักษณ์ของแบรนด์ก็ไม่ชัดเจน เราจึงพยายามเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ในอนาคตจะขยายโครงการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มร้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยนำไลน์อีโคซิสเต็มเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการให้บริการตั้งแต่การซื้อขาย โปรโมตร้านจนถึงการจ่ายเงินเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอี”

นางสาวทรายย้ำว่า อีคอมเมิร์ซยังเติบโตอีกมาก ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือ สร้างตัวตนและแบรนด์ที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นบนออนไลน์ให้ได้ ซึ่งไลน์เองจะพยายามพัฒนาฟีเจอร์และบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ขายและผู้ซื้อ คาดว่าในปี 2565 จำนวนร้านบน LINE SHOPPING จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10-15%