ARV เปิดตัว Horrus โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติ แก้เพนพ้อยต์ธุรกิจ

โดรน

เออาร์วี เปิดตัว Horrus โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติ นำร่องใช้ใน ปตท.สผ. แก้เพนพ้อยต์ธุรกิจ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) บริษัทในเครือปตท.สผ. เปิดตัว “Horrus:Fully Automated Drone Solution”เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่ทำงานได้ด้วยการขับเคลื่อนตนเอง (Unmanned Aerial Vehicle) อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย หลังนำร่องใช้งานในพื้นที่ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC)

ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีพันธกิจในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ ปตท.สผ. และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ล่าสุดได้พัฒนา “Horrus : Fully Automated Drone Solution” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้ทำงานได้ด้วยการขับเคลื่อนตนเองอย่างเป็นอิสระ (Unmanned Aerial Vehicle – UAV) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยตั้งโปรแกรมการปฏิบัติภารกิจได้อัตโนมัติ และปฏิบัติภารกิจซ้ำได้อย่างเป็นกิจวัตรผ่านแพลตฟอร์มการควบคุมระยะไกล (Remote controlled) โดยไม่ต้องใช้นักบิน (UAV)

“โดรนเป็นเทคโนโลยีที่มีการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงของบุคลากรในการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุฉุกเฉิน ทำให้การช่วยเหลือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ข้อจำกัดสำคัญ คือ ต้องควบคุมโดยนักบิน UAV ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการบิน ซึ่ง Horrus เข้ามาแก้ปัญหานี้ได้จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการปฏิวัติวงการอากาศยานไร้คนขับในไทย”

และ “ARV ในฐานะขององค์กรที่มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับจากการที่มีบริษัทย่อยในเครืออย่าง บริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด ที่นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจจึงมองเห็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม 3 ด้าน ได้แก่

1. บุคลากรที่เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการบินอากาศยานไร้คนขับหรือนักบิน UAV มีน้อยในไทย 2. บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีค่าแรงสูง และไม่สามารถบินต่อเนื่องได้นานหลายชั่วโมง และ 3. ข้อจำกัดของพื้นที่ สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ และสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อนักบินโดรน

ด้านนายภาคภูมิ เกรียงโกมล Robotic Team Lead, บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) เปิดเผยว่า เทคโนโลยี Horrus: Fully Automated Drone Solution” มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน 1. โดรนไร้คนขับ แบบ 4 ใบพัด บินต่อเนื่องได้30 นาที ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 2. แพลตฟอร์ม ควบคุมการทำงานจากระยะไกลเพื่อควบคุม Horrus และ3. Ground control station เป็นฐานในการรับคำสั่งการบิน และชาร์จไฟ ในการปฏิบัติภารกิจ

“เมื่อ 3 ส่วนนี้ทำงานร่วมกัน ผู้ใช้งานจะตั้งโปรแกรมล่วงหน้าได้ผ่านการควบคุมระยะไกล โดย Horrus จะส่งโดรนออกไปปฏิบัติภารกิจตามจุดที่โปรแกรมไว้อย่างครบถ้วนแม่นยำ เมื่อเสร็จภารกิจก็จะบินกลับมาชาร์จตัวเองในรัศมี 6 กิโลเมตรที่ Ground Control station จุดนี้มีหน้าที่ประมวลผล อัพโหลดภาพ และวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตมายังผู้ใช้งาน แม้แต่การถ่ายทอดภาพสดที่ดูได้ทันทีแบบเรียลไทม์”

ปัจจุบัน Horrus นำร่องใช้จริงในศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Centre – PTIC) รวมถึงใช้ในการสำรวจแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมตรวจสอบอย่างเป็นกิจวัตร (Routine inspection) แทนการส่งพนักงานโดยสารเรือไปสำรวจ ตลอดจนใช้คลื่นความร้อนสำรวจ ตรวจ จับ รอยแตก รอยร้าวภายในและภายนอกปล่องท่อเชื้อเพลิง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนได้มาก

ดร.ธนา กล่าวต่อว่า เตรียมต่อยอดการใช้งานไปในอุตสาหกรรมสำรวจ และผลิตพลังงานในเครือ ฯลฯ รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง และการบรรเทาสาธารณภัย ลดปัญหาด้านอัคคีภัย และไฟป่า ผ่านเทคโนโลยีโดรนดับเพลิง เป็นต้น

“ARV จะผลักดันเทคโนโลยีของ Horrus เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ และภาครัฐที่สนใจนำเทคโนโลยีโดรนไร้คนขับไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนให้ธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตพลังงาน, ก่อสร้าง, นิคมอุตสาหกรรม, พลังงานทดแทน, โทรคมนาคม, การเกษตร, ขนส่ง เป็นต้น รวมถึงเกำลังศึกษา และดูโอกาสที่จะสเกลอัพใปในเรื่องคริปโตฯ, บล็อกเชน และไซเบอ์ซิเคียริตี้ด้วย คาดว่าในปีหน้าจะเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม”