เจาะเทรนด์ “วิดีโอคอนเทนต์” คลิป “สั้น-ยาว” แบบไหนตรงใจคนดู

เฟซบุ๊ก
Photo by Chris DELMAS / AFP

ผลกระทบโควิด-19 ไม่เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น แต่ธุรกิจและผู้ผลิตคอนเทนต์ก็ต้องเปลี่ยนตนเองในหลายมิติ ทั้งการวางแผนธุรกิจ และรูปแบบการสื่อสาร โดย “โซเชียลมีเดีย” ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับแรก ๆ ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ส่วนประเภทคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม คือ “วิดีโอคอนเทนต์”

ในงานสัมมนาออนไลน์ The Power of Video 2021 Thailand Let Facebook Video Tell Your Story โดย “แพร ดำรงค์มงคลกุล” Country Director Facebook ประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้พฤติกรรมการรับชมวิดีโอคอนเทนต์จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวไทย แต่แนวโน้มการรับชมกลับเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้แบรนด์ นักการตลาด และธุรกิจต่าง ๆ ต้องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้การลงทุนวิดีโอคอนเทนต์มีความแตกต่าง และเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นอีกโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับบรรดาครีเอเตอร์ด้วย

เปิดอินไซด์คนดูคลิปวิดีโอ

เฟซบุ๊ก ร่วมกับบริษัทกันตาร์ สำรวจพฤติกรรมการรับชมวิดีโอของผู้บริโภคชาวไทย จาก 500 ตัวอย่าง อายุ 18-60 ปี ในเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยนิยมดูวิดีโอคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม “เฟซบุ๊ก” เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งกลุ่มเจนแซด (อายุ 11-24 ปี) และกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุ 25-40 ปี) เป็นกลุ่มที่ดูวิดีโอคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กมากที่สุด เนื่องจากสะดวกและคอนเทนต์ทันสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตโควิดจะทำให้ผู้บริโภคต้องอยู่บ้าน แต่อุปกรณ์ที่เลือกรับชมวิดีโอคอนเทนต์ อันดับแรก (ผู้บริโภค 1 คน รับชมมากกว่า 1 ดีไวซ์) ยังเป็นสมาร์ทโฟนมากถึง 98% คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 79% สมาร์ททีวี 42% และแท็บเลต 38%

เมื่อเจาะลงไปยังแหล่งที่มาของวิดีโอพบว่า ผู้ชม 3 อันดับแรกมาจากการรับชมวิดีโอ จาก official page 80% มีเดียแพลตฟอร์ม 70% และ official page ที่มีการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก 64%

ทั้งยังพบด้วยว่าวิดีโอสั้นที่มีความยาว 0-3 นาที ได้รับความนิยมเป็นอันดับแรก เฉลี่ย 13 ครั้งต่อสัปดาห์

ถัดมาเป็นวิดีโอที่มีความยาวระดับกลาง 3-10 นาที มีการรับชมเฉลี่ย 11 ครั้งต่อสัปดาห์ และวิดีโอที่มีความยาว 10 นาทีขึ้นไป มีการรับชมเฉลี่ย 9 ครั้งต่อสัปดาห์

ขณะที่สัดส่วนการรับชมต่อวันเป็นวิดีโอสั้น 0-3 นาที เฉลี่ย 15 รายการต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 57% วิดีโอที่มีความยาว 3-10 นาที เฉลี่ย 10 รายการต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 40% และวิดีโอความยาว 10 นาที มีการรับชม 0.56 รายการต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3%

อินไซด์วิดีโอคอนเทนต์

คลิปแบบไหนคนดูสั้น-ยาว

ความยาวของวิดีโอคอนเทนต์ก็มีผลต่อการผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน จากผลสำรวจพบว่าประเภทวิดีโอสั้นความยาว 0-3 นาที ที่คนนิยมดู 3 อันดับแรก คือ ภาพยนตร์ตัวอย่าง 60% คลิปข่าว 52% และรีวิว 50%

ส่วนวิดีโอ 3-10 นาที ได้แก่ คลิปข่าว 51% รีวิว 46% Feel Good VDO 41% และวิดีโอที่มีความยาว 10 นาที ได้แก่ ละคร 51% ท่องเที่ยว สารคดี 51% เรียลิตี้โชว์ 47% และคลิปข่าว 46%

จากการสำรวจนี้ยังพบว่า แบรนด์มีแนวโน้มโยกย้ายมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป โดย “เฟซบุ๊ก” เป็นแพลตฟอร์มโฆษณาอันดับแรก ๆ ที่แบรนด์สินค้าให้ความสนใจ โดยกลุ่มสินค้าที่นิยมซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก 3 อันดับแรก คือ อาหาร เครื่องดื่ม เว็บไซต์ค้าปลีก และเสื้อผ้าแบรนด์แฟชั่น

จากแนวโน้มดังกล่าว “เฟซบุ๊ก” จึงพยายามปรับรูปแบบการนำเสนอ ปรับคอนเทนต์เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์และผู้บริโภคเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ทั้ง Facebook Watch, In-stream Ads โฆษณาที่จะแทรกลงในเนื้อหา 3 ส่วน คือ ก่อนวิดีโอ คั่นกลางวิดีโอ และโฆษณาแบบรูปภาพ และแบ่งรายได้ระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์กับเฟซบุ๊ก

ล่าสุดเฟซบุ๊กประกาศรางวัล Recognition Awards สำหรับเพจที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมสูงสุด แบ่งเป็น ประเภทข่าว คือ “ข่าวสด” มีผู้ติดตาม 17 ล้านราย มีการโพสต์คลิป 7,175 คลิป ประเภทบันเทิง คือ ONE 31 และประเภทวิดีโอครีเอเตอร์ ที่มีผู้ชมมากที่สุด คือ “พี่น้องไทย”

ช่องทางทำเงิน “ครีเอเตอร์”

ในมุมมองของครีเอเตอร์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ “เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ก แอนด์ เดอะ ซิตี้ จำกัด เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ NaNake555 กล่าวว่า โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อผู้บริโภค โดยช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอันดับแรก จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่สำคัญของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สำหรับเพจ NaNake555 ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาได้นำเสนอคอนเทนต์แนวเอดูเทนเมนต์ (edutainment) หรือความบันเทิงที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับปัญหาชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมในขณะนั้น ๆ

สำหรับทิศทางปี 2565 เตรียมนำเสนอคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปมากขึ้น โดยแนวคอนเทนต์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คน แต่ในท้ายที่สุด ยังเน้นความเป็น “เอดูเทนเมนต์” แต่เพิ่มเรื่องที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น

ใช้ “ข้อมูล” หลังบ้านตีโจทย์

ด้าน “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปี 2561 เฟซบุ๊กได้เปิดตัว Ad Breaks เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็น In-stream Ads แต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม คือแบ่งรายได้ระหว่างเฟซบุ๊กกับผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งเวิร์คพอยท์มีการโพสต์คลิปวิดีโอเฉลี่ย 1,000 คลิปต่อเดือน จากรายการทีวี เวิร์คพอยท์ทูเดย์ โดยมีทั้งคลิปสั้น คลิปกึ่งสั้น กึ่งยาว คลิปยาว หรือแม้แต่ออกอากาศสดพร้อมช่อง “เวิร์คพอยท์ทีวี”

“เราใช้การวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านเข้ามาช่วยผสมกับการลองผิดลองถูก เพื่อทดสอบกับคนดูตลอดเวลา เนื่องจากพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเร็ว และในอนาคตคาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า เฟซบุ๊กก็คงพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตผู้ผลิตคอนเทนต์มากขึ้น เราเองก็คงทำงานร่วมกับเฟซบุ๊กต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ”

ขณะที่ “สมชัย เกตุชัยโกศล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับเฟซบุ๊กต่อเนื่อง โดยการเปิดตัววิดีโอโฆษณาสินค้าใหม่ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนได้ จึงเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารให้แบรนด์มากขึ้น