สตาร์ตอัพรุ่นแรก ปรเมศวร์ มินศิริ ฟองสบู่ดอตคอม ถึง ยุคทองบิตคอยน์

ปรเมศวร์ มินศิริ
สัมภาษณ์พิเศษ

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้ฮอตเฉพาะในระดับโลกแต่ในบ้านเราก็คึกคักเป็นอย่างยิ่ง หากดูจากปริมาณการเปิดพอร์ตของนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อกรมสรรพากรเตรียมที่จะเรียกเก็บภาษีจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีก็ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงขึ้นไปอีก

การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีที่เฟื่องฟูอย่างรวดเร็วทำให้หลายฝ่ายมองว่าคล้ายกับยุคดอตคอมเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่เดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ฟองสบู่

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “ปรเมศวร์ มินศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอตคอม (kapook.com) คนที่อยู่ในแวดวงไอทีดอตคอมในอดีตจะรู้จักเขาดี เพราะก่อนที่จะมาก่อตั้ง “กระปุก” เขาสร้างชื่อมาก่อนจากเว็บ Sanook ก่อนจะขายให้กลุ่มทุนต่างชาติ เรียกได้ว่าเป็นสตาร์ตอัพรุ่นแรกของเมืองไทยก็น่าจะได้

ปัจจุบันเขากำลังพัฒนา Tradind bot ในชื่อ MyPort.Pro เพื่อบริหารพอร์ตการลงทุนให้ผู้ที่สนใจลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลก

ผุดแพลตฟอร์มบริหารด้วยบอต

“ปรเมศวร์” กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไป ส่งผลให้ต้องปรับตัวในหลายมิติ แต่โชคดีที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งตนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอดจึงปรับตัวได้ไม่ยากนัก

เมื่อกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับได้ทดลองลงทุนด้วยตนเองจึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จึงเริ่มเปิดบริษัทใหม่ และฟอร์มทีมขึ้นมาพัฒนาซอตฟ์แวร์ Trading bot ในชื่อ

MyPort.Pro เพื่อช่วยบริหารพอร์ตการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับนักลงทุนทั่วโลก

“คนที่เทรดคริปโทเขาอยากได้กำไร กลัวขาดทุน พอกลัวก็ทำให้หลายคนไม่ได้หลับไม่ได้นอน คอยเฝ้าพอร์ตตัวเอง เพราะความต่างของตลาดคริปโทกับตลาดหุ้นคือ มีความเคลื่อนไหว 24 ชั่วโมง ไม่ได้มีเวลาเปิดปิดเหมือนตลาดหุ้น ผมก็เลยมานั่งคิดว่าจะแก้เพนต์พอยต์ตรงนี้ได้ยังไง นำมาสู่การพัฒนา MyPort.Pro ที่ใช้บอตในการเทรด

จุดเด่นคือใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยเราตั้งเป้าว่าต้องลดความเสี่ยงจากการขาดทุนของนักลงทุนให้ได้มากที่สุด ส่วนค่าบริการจะเก็บตามสัดส่วนกำไรที่นักลงทุนได้ ในช่วงแรกจะให้ทดลองเทรดเงินจำลองก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ”

สำหรับบริการ MyPort.Pro ไม่ต้องขอใบอนุญาตเพราะไม่ใช่เว็บเทรด และไม่ใช่นายหน้าหรือบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุน แต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การลงทุนของนักลงทุนในตลาดนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ปรเมศวร์” กล่าวว่า ตัวระบบอยู่ต่างประเทศทั้งหมด กลุ่มลูกค้าหลักคือนักลงทุนคริปโท ซึ่งไม่ได้มองแค่ในตลาดประเทศไทยแต่เป็นตลาดโลก

ฟองสบู่ดอตคอมถึงคริปโท

“ปรเมศวร์” กล่าวว่า กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฟองสบู่” แล้ว หากหมายถึง “ราคาที่พุ่งสูงขึ้นไปมากกว่าที่เคยเป็นมา” และตนมองว่าเป็นฟองบู่มาตลอด 2 ปีที่แล้ว

ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลกลางในสหรัฐอเมริการวมถึงหลายประเทศทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก โดย 2 ปัจจัยที่ให้คนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นคือ ความเชื่อมั่นจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าลงทุนรูปแบบอื่น ๆ จึงดึงความสนใจจากนักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ

ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนเก่ากับรุ่นใหม่คือ ความกล้าได้กล้าเสีย เทียบง่าย ๆ คือ นักลงทุนรุ่นเก่าแม้มีความเข้าใจตลาดดี แต่ก็อาจยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มาก หากราคาหุ้นตกลงไป 10% อาจนอนไม่หลับแล้ว แต่สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ แม้ราคาคริปโทจะตกลง 30-40% ยังยอมรับได้ เพราะเข้าใจว่าตลาดนี้มีความผันผวนมาก

“ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็นฟองสบู่ไปแล้ว ยกตัวอย่างสมัยยุคดอตคอม เราก็อยู่ในช่วงฟองสบู่ ตั้งแต่เกิดตอนที่ธุรกิจดอตคอมหรือยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามา คนก็สงสัยว่าจะเป็นแค่แฟชั่นหรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายพอฟองสบู่มันแตก ธุรกิจที่อยู่ได้ก็ยังเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ ข้ามเข้ามาสู่ยุคนี้ที่บริษัทเทคโนโลยีโตขึ้น

แต่อาจไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต มีอนาคต คนก็เข้ามาเก็งกำไรจึงเกิดเป็นฟองสบู่ การลงทุนคริปโทก็เช่นกัน ถ้าถึงจุดหนึ่งที่คนซื้อจนราคาขึ้นสูงมากจนเกินไป จนฟองสบู่แตก หมายความว่า ไม่มีใครซื้อราคานั้นอีกแล้ว ทุกอย่างก็จะผ่านไป”

หากฟองสบู่คริปโทแตกขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจไปหมด ทั้งหุ้น ทั้งคริปโท ซึ่งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาคริปโทน่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวต่างจากที่ผ่านมาที่จะซื้อเหรียญอะไรก็มีกำไร ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องศึกษาและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

แนะรัฐมองการลงทุนหลายมิติ

ขณะที่ประเด็นการจัดเก็บภาษีสำหรับนักลงทุนคริปโทนั้น “ปรเมศวร์” กล่าวว่า ในต่างประเทศใช้การเก็บแบบ Total income Tax คือเก็บภาษีเป็นปี โดยแพลตฟอร์มซื้อ-ขายอาจออกเป็นรีพอร์ตแล้วคำนวณให้เลยว่า ภายใน 1 ปีมีกำไรหรือขาดทุน ซึ่งในอเมริกาพิจารณาอีก 2 ปัจจัย คือ ลงทุนระยะสั้น หรือระยะยาว ถ้าลงทุนในระยะยาวอาจได้รับการสนับสนุนหรือลดภาษีด้วย

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ส่วนใหญ่อาจเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจยังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องจัดเก็บภาษีมากนัก แต่เป็นโอกาสที่ดีในการฝึกให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจระบบภาษีไปด้วยในตัว แต่รัฐต้องไม่สร้างนโยบายจนทำให้คนอยากหลบเลี่ยงภาษี แต่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าการเสียภาษีเป็นเรื่องง่ายและดี

“ปรเมศวร์” กล่าวว่า คริปโทไม่ต้องการได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเพราะสามารถโตได้ด้วยตนเอง แค่ต้องการความเป็นธรรมในการเก็บภาษี แต่ถ้ามองไปถึงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ เช่น การสร้างเกมบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เช่น ในประเทศเวียดนาม มีสตาร์ตอัพสร้างเกม axie infinity แล้วขายไปทั่วโลก

ถ้าประเทศไทยมีผู้ประกอบการระดับนี้ก็จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงไม่อยากให้ภาครัฐมองการลงทุนในคริปโทเป็นแค่เรื่องการเก็งกำไรเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมองประโยชน์จากเทคโนโลยีในหลาย ๆ มิติ

“คำถาม คือ ถ้าโลกกำลังมูฟไปบล็อกเชน เราเห็นโอกาส หรือ เรายังไม่เห็น แต่เพื่อนบ้านเราเห็น เพราะการเปิดรับเทคโนโลยีไทยก็ไม่แพ้ใครในโลก มีโปรเจ็กต์ที่คนไทยสำเร็จไปแล้วหลายโปรเจ็กต์ และมีอีกหลายโปรเจ็กต์แต่ไปสำเร็จในต่างประเทศ”