รู้จัก “สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ NFT

NFT
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมพูดถึงเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซีมาหลายครั้ง อยากบอกว่าเทรนด์เกี่ยวกับ cryptocurrency, blockchain หรือ NFT ใครกระโดดเข้าไปก่อน มีโอกาสเข้าไปใช้งาน เข้าใจหรือนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ก่อน คือความได้เปรียบ

ครั้งนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่อง NFT หรือ nonfungible token แปลให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การออกใบอนุญาตหรือใบรับรอง เป็นการออกเอกสารขึ้นมารับรองว่าสิ่งของชิ้นหนึ่งหรือสินทรัพย์ที่ทำขึ้นเป็นไฟล์ดิจิทัลผูกกับบล็อกเชนถือเป็นสัญญาดิจิทัล ซึ่งสัญญาดิจิทัลอันนี้เป็นอนันต์

อนันต์คือ ทุกคนทั่วโลกดูเอกสารนี้ได้หมดว่าไฟล์ต้นฉบับคืออะไร ใครเป็นคนทำออกมา คนที่ทำออกมาโอนให้ใครก็ได้ และคนที่ได้รับก็ยังโอนต่อได้ โดยมีใบรับรองสิทธิความเป็นเจ้าของนี้แนบไปให้ทุกคนทั่วโลกดูได้

ไฟล์โทเค็น หรือใบเอกสารสิทธินี้จะแก้ไขไม่ได้ ไม่สามารถก๊อบปี้ได้ ต่อให้ได้ไฟล์นั้นไป เช่น ได้รูปภาพที่เป็น NFT ไป แต่สุดท้ายจะมีไฟล์เอกสารสิทธินี้ยืนยันอีกทีว่าภาพนี้มีเจ้าของ และเจ้าของคือใคร ทำให้เมื่อมีใครสร้างภาพหรือสินทรัพย์ดิจิทัล NFT ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เสียง รูปภาพ หรืออะไรก็ตามที่เป็นดิจิทัล ทุกอย่างเราสร้างใบรับรอง หรือ certificate เอาไปแปะร่วมไว้ได้ และสามารถส่งต่อรวมถึงเอาไปค้าขายได้ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้น NFT ในช่วงแรกจึงเหมาะกับแวดวงงานศิลปะ เพลง วิดีโอ เกม ไอเท็ม อาวุธในเกม ฯลฯ

จริง ๆ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ใครเปิดดูได้ ก๊อบปี้ หรือดาวน์โหลดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้ แต่จะไม่ได้สิทธิในความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น สินทรัพย์ในโลก NFT แปลง่าย ๆ คือทุกคนก๊อบปี้ได้แต่ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของ คนที่เป็นเจ้าของ คือคนที่มีโทเค็น หรือมีสิทธิของไฟล์ไฟล์นี้เก็บอยู่กับตัวเอง คุณค่าของมันไม่ใช่การมีไฟล์ แต่คือการเป็นเจ้าของไฟล์นั้น อย่างที่บอกไปว่า ต่อให้ได้ไฟล์นั้นไปแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ได้แค่มีไว้เท่านั้น

ความเป็นเจ้าของมีประโยชน์อย่างไร

ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้ขาย ย้าย โอนกรรมสิทธิ์เหล่านั้นได้ เช่น เริ่มมีคนเอาภาพที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง cryptopunks ซึ่งเป็นภาพที่ดังมากตั้งแต่ปี 2017 มีการประมูลไปล่าสุด 7 ล้านเหรียญ

หรือทวิตแรกที่ส่งเข้าไปใน Twitter เจ้าของคือ “แจ็ก ดอร์ซีย์” อดีต ceo ทวิตเตอร์ ขายได้ในราคาประมาณ 2 ล้านเหรียญ คนที่ซื้อไปจะได้สิทธิของข้อความนั้นไป สรุปแล้ว คือคุณจะได้กรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์นั้น ๆ ไป

ตอนนี้เมื่อโลกเปลี่ยนไป สิ่งต่าง ๆ ที่ผลิตมาบนโลกออนไลน์ถูกทำซ้ำหรือก๊อบปี้ได้ง่าย แต่เมื่อมี NFT เช่น การเล่นเกม เมื่อก่อนจะมีคำว่า DeFi (Decentralized Finance) ตอนนี้เริ่มมีคำว่า GameFi เกิดขึ้น

GameFi คือ เมื่อก่อนอาวุธจะสร้างออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ในยุคที่มี NFT เข้าเกี่ยวข้อง ไอเทมหรืออาวุธทุกอันจะสร้างมาอย่างจำกัด และทุกอันจะมีไอดีของตนเอง มีใบประกาศของตนเอง เมื่ออาวุธนั้นมีจำกัด หากคุณอยากได้ก็ต้องไปซื้อมา โดยต้องเอาเงินจริงไปเปลี่ยนเป็นเงินคริปโต แล้วเอาเงินคริปโตไปซื้อไอเทมเพื่อให้ได้สิทธิในการใช้ไอเทมนั้น

จากของที่เมื่อก่อนไม่เคยมีมูลค่าเพราะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เมื่อมีระบบ NFT มีเรื่องของกรรมสิทธิ์ขึ้นมาในสินค้าดิจิทัลเกิดขึ้นจึงเริ่มมีการโอน ซื้อมาขายไปได้ ตรงนี้เริ่มเข้าสู่โลกของ NFT และกำลังฮิตมากขึ้นเรื่อย ๆ

และเริ่มมีคนเปิดตลาดกลาง หรือ marketplace ขึ้นมาเพื่อไว้ขายสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ บางคนขายเพลง ภาพ หรืออะไรก็ตามที่เป็นดิจิทัล ล่าสุดมีผู้ชายคนหนึ่งถ่ายภาพหัวนมตัวเองแล้วเอาไปขายในออนไลน์ ได้ถึง 9 แสนกว่าบาท

นั่นเพราะมีความหายาก มีเรื่องราวหรือ story เข้ามา คนก็เริ่มเก็บสะสมเอาไว้

ต้องบอกว่าตอนนี้ NFT ปลุกให้ศิลปินต่าง ๆ เริ่มหันมาสร้างภาพในโลก NFT มากขึ้น ปัจจุบันที่ดังมาก ๆ คือ Bored Ape Yacht Club ที่เป็นรูปลิงหน้าเบื่อ ๆ คอลเล็กชั่นหนึ่งสร้างขึ้นมาไม่ซ้ำกัน 10,000 ภาพ แต่ด้วยความที่คนสร้างเป็นศิลปินที่โด่งดัง และที่สำคัญมีดาราดัง ๆ เข้าไปซื้อ เช่น Justin Bieber ก็ซื้อภาพ Bored Ape ในราคา 15 ล้านบาท เท่ากับเขาเป็นเจ้าของภาพนั้นแล้ว และมีสิทธินำไปส่งต่อได้ และนำไปทำอะไรก็ได้

อย่างเพื่อนผมบางคนก็ซื้อกรรมสิทธิ์เจ้าลิงหน้าเบื่อนี้มา เขาก็นำไปทำซ้ำได้หรือนำไปขายต่อให้เกิดมูลค่าได้ ตอนนี้คนดังหลายคนเริ่มสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท NFT มากขึ้นเรื่อย ๆ

ตรงนี้คือสิ่งที่น่าสนใจว่า NFT จะมีลักษณะเป็น “ยูนีค” เป็นดิจิทัลที่มีจำกัด และเป็นกรรมสิทธิ์ที่ส่งต่อได้เฉพาะเจ้าของเท่านั้น ในโลกของคริปโตจากเดิมสินค้าหรือของที่ทำซ้ำได้ง่ายแต่พอเริ่มมีระบบหรือเทคโนโลยีช่วยไปทำให้เกิดกรรมสิทธิ์ขึ้นในไฟล์ไฟล์นั้น และทำให้เกิดเป็นมูลค่าขึ้นได้