จับตา “อีลอน มัสก์” กับการแผ่อิทธิพลในทวิตเตอร์

Elon Musk (Photo by Patrick Pleul / POOL / AFP)
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวที่ยึดครองพื้นที่สื่อในวงการเทคโนโลยีมากที่สุด คือ ข่าวการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์

เพียงวันแรกที่มัสก์ ประกาศข่าวนี้ออกมา หุ้นของทวิตเตอร์ก็พุ่งพรวดไปกว่า 25% พลอยทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างเขาฟันกำไรไปถึง 1 พันล้านเหรียญ

สำหรับมนุษย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินรวมกัน 2.82 แสนล้านเหรียญ เงินแค่ 1 พันล้านไม่ทำให้ร่ำรวยขึ้นกว่าเดิมเท่าไรนัก แต่ประเด็นที่ทั่วโลกสงสัยอยากรู้ คือ เขามีเป้าหมายอะไรกันแน่ในการลงทุนครั้งนี้ แม้ในเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต.จะระบุว่าเป็นการถือหุ้นแบบ passive

แต่นักวิเคราะห์มองว่าคนระดับ อีลอน มัสก์ ไม่น่าจะหวังแค่เงินปันผลหรือกำไรจากส่วนต่าง จึงเกิดการคาดการณ์ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเขา คือ การอยากเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการบริหารของทวิตเตอร์มากกว่า

เพราะหลังจากประกาศข่าวในวันจันทร์ “อีลอน” ก็ทวิตถามเหล่าสาวกที่ติดตามเขากว่า 80 ล้านคนทันทีว่าอยากให้มีปุ่ม edit หรือไม่ ซึ่งเป็นโพลที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากชาวทวิตเตี้ยนที่หงุดหงิดกับการไม่มีปุ่มให้ “แก้ไข” เนื้อหามาช้านาน

การถามทีเล่นทีจริงของเขาอาจเป็นแค่การโยนหินถามทาง แต่ส่งผลสะเทือนไปถึงผู้บริหารของทวิตเตอร์ที่ต้องรีบออกมาตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อสกัดไม่ให้อีลอน มัสก์ มีบทบาทในการชี้นำธุรกิจของบริษัทไปมากกว่านี้ ด้วยการประกาศแต่งตั้งเขาเป็นกรรมการบอร์ดทันที

เพราะตามกฎแล้วกรรมการบริษัทจะไม่สามารถถือหุ้นได้เกิน 14.9% ระหว่างดำรงตำแหน่ง (อีลอน มัสก์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประเภท class II director จนถึงปี 2024)

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังกำชับอีกว่าบอร์ดมีหน้าที่แค่กำกับดูแลและให้คำแนะนำ แต่การบริหารธุรกิจจริง ๆ นั้นอยู่ในมือของคณะผู้บริหารและพนักงานเท่านั้น

เหตุที่หลายคนเชื่อว่าอีลอนอยากเข้ามาควบคุมหรือกำหนดทิศทางการบริหารของทวิตเตอร์ มาจากความหงุดหงิดของเขาที่มีต่อนโยบายด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทวิตเตอร์

ก่อนหน้านี้เขาเคยวิจารณ์ทวิตเตอร์ในประเด็นนี้หลายครั้ง ถึงขั้นเปรยถาม (ผ่านทวิต) ว่า ควรจะมีแพลตฟอร์มใหม่หรือไม่ พอมีข่าวการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เผยแพร่ออกมา ก็เลยยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า

นี่อาจเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่อุตสาหกรรมโซเชียลมีเดียของอิลอนอย่างเต็มตัว เพราะการเข้าเป็นผู้ถือหุ้น (หรือการเทกโอเวอร์ในอนาคต) น่าจะง่ายกว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นเอง

ความจริงอีลอน มัสก์ จัดเป็น active user ตัวท็อปคนหนึ่งที่มักใช้ทวิตเตอร์สร้างสีสันหรือเรียกเสียงฮือฮาให้ตัวเองหรือกิจการของเขามาตลอด เช่น เขาเคยทำโพลถามสาวกในทวิตเตอร์ว่า เขาควรขายหุ้น 10% ใน Tesla หรือไม่

ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เชียร์ให้ขาย เขาก็ขายจริง ๆ เมื่อปลายปีก่อน แม้ภายหลังนักวิเคราะห์จะมองว่าการขายหุ้นครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการทำโพลและเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองล้วน ๆ แต่ก็ทำให้เขาได้ใจสาวกไปเต็ม ๆ

หรือการทวิตต่อปากต่อคำกับ World Food Programme (WFP) ว่า เขาจะยอมบริจาคเงิน 6 พันล้านเหรียญ หาก WFP สามารถอธิบายได้ว่าเงินดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาความอดอยากของประชากรโลกได้อย่างไร หลังจากผู้อำนวยการ WFP เรียกร้องให้เขาเจียดเงิน 2% ของทรัพย์สินที่มี (6 พันล้านเหรียญ) เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของโลก

ความชอบทวิตของเขายังเข้าข่ายปากพาจนในบางครั้ง เช่น ปี 2018 เขาทวิตเกี่ยวกับหุ้นของบริษัทจน ก.ล.ต.ต้องลงดาบด้วยการกำหนดให้บริษัทต้องแต่งตั้งทนายมากลั่นกรองทวิตของอีลอน มัสก์ ก่อนโพสต์ทุกครั้ง (ไม่มีใครรู้ว่า ทุกวันนี้ข้อตกลงนี้ยังมีผลอยู่หรือไม่)

ทุกครั้งที่โดนใครวิจารณ์ อีลอน มัสก์ มักจะตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนผ่านทวิตเตอร์ แม้แต่ ก.ล.ต.ก็ไม่เว้น เพราะเคยทวิตต่อว่า ก.ล.ต.มาแล้วว่าใช้อำนาจในการสกัดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขา กอร์ดอน แฮสเกตต์ นักวิเคราะห์จาก Don Bilson บอก CNBC ว่า เขาไม่คิดว่าอีลอนจะไปไกลถึงขั้นอยากปรับโครงสร้างหรือเทกโอเวอร์บริษัท ตราบใดที่ทวิตเตอร์ยอมทำตามที่เขาต้องการ

จากการที่เขาพูดถึง “free speech” บ่อยครั้ง ทำให้คาดว่าเขาน่าจะอยากเห็นทวิตเตอร์เปิดกว้างให้คนแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะความเห็นที่อาจค่อนข้าง controversial

ไม่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของอีลอน มัสก์ คืออะไร และแผนสกัดการแผ่อิทธิพลของเขาจากกลุ่มผู้บริหารทวิตเตอร์จะได้ผลหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

แต่ที่แน่ ๆ การทำธุรกิจที่เต็มไปด้วยลูกล่อลูกชนของอีลอน มัสก์ จนผลักดันให้อาณาจักร Tesla และ SpaceX เติบใหญ่จนถึงวันนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าประเมินเขา “ต่ำ” ไป โดยเฉพาะกับการปรับบทบาทครั้งนี้จากการเป็น “active user” มาสู่การเป็น “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด” อาจเป็นการเข้ามาเขย่าทวิตเตอร์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้