ปรากฏการณ์ LUNA เอฟเฟ็กต์ บทเรียนนักลงทุนคริปโต

บิตคอยน์

หลังราคาเหรียญ “LUNA” ร่วงตกสวรรค์จาก 1 เหรียญสหรัฐ เหลือไม่ถึง 1 เซนต์ หรือตกลงถึง 99% ณ วันที่ 13 พ.ค. 2565 สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลก แม้ภายใน 24 ชั่วโมงถัดมา “ราคา” จะขยับขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเขย่าขวัญบรรดานักลงทุนทั้งหน้าใหม่ และเก่าไม่น้อย

แม้ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ LUNA เขย่าขวัญนักลงทุนทั่วโลก ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีโลกเองก็ถือได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง หากพิจารณาราคา “บิตคอยน์” (Bitcoin) ที่ร่วงลงต่อเนื่อง จากราคา 6.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 10 พ.ย. 2564 ลดลงมาอยู่ในกรอบ 3.2-4.8 หมื่นเหรียญสหรัฐ ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 และหลุดลงมาต่ำกว่า 2.8-3 หมื่นเหรียญสหรัฐ ณ เดือน พ.ค. 2565

สถานการณ์ในบ้านเราก็ดูจะไม่ต่างกันนัก หากพิจารณาจากรายงานภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมา พบว่าจำนวนบัญชีบุคคลธรรมดาที่มีการใช้งาน (active user) ลดลงต่อเนื่อง

โดยในเดือน ม.ค. บัญชี active อยู่ที่ 6.82 แสนบัญชี เดือน ก.พ.ที่ 4.95 แสนบัญชี เดือน มี.ค.ที่ 4.8 แสนบัญชี และ เม.ย.ที่ 4.45 แสนบัญชี และ ณ วันที่ 9 พ.ค. บัญชี active อยู่ที่ 1.91แสนบัญชี ขณะที่ยอดเปิดบัญชีผู้ใช้งานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม ณ เดือน เม.ย. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.68 ล้านบัญชี

ในรายงานของ ก.ล.ต.ระบุว่า การ active ของบัญชีผู้ใช้งาน สอดคล้องกับทิศทางราคา Bitcoin และยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนบัญชีทั้งหมด

แต่ถึงจะอย่างนั้น ในงาน Crypto Expo Thailand 2022 ที่จัดขึ้นที่ไบเทค บางนา ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค. 2565) มีผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่าไปร่วมงานค่อนข้างคึกคัก ทั้งในกลุ่ม Metaverse, Game-fi, แพลตฟอร์ม lending แม้กระทั่งกลุ่มเครื่องขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี

พีรเดช ตันเรืองพร

ปรากฏการณ์ LUNA เขย่าตลาด

นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองว่า กรณี LUNA เป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มาก และเท่าที่ตนจำได้ แทบจะไม่เคยเห็นเหรียญติดอันดับท็อปจะร่วงลงมาได้ขนาดนี้

“แต่ผมคงไม่ได้มีคำแนะนำอะไรมาก ในมุมมองผู้ประกอบการภาคเอกชนก็คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากดูแลการประกอบการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และมีการออกคำเตือนให้กับนักลงทุนในกรณีที่ราคามีความผันผวนสูง หรือการนำสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากกระดานเทรด (delist) เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เป็นต้น”

และว่า ในส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลกับกรณีนี้ก็น่าจะมีผลกระทบในแง่ความน่าเชื่อถือในเหรียญประเภทเดียวกันนี้ (Stablecoin) ที่อาจลดลง เช่น คนเริ่มเป็นห่วง USDT (สกุลเงินดิจิทัลแบบ Stablecoin ที่อยู่บนบล็อกเชน) มากขึ้น หลังจาก UST ของ Terra LUNA แตกไป

ซึ่งจริง ๆ แล้วกลไกการทำงานเป็นคนละอย่างกัน แต่อาจด้วยความไม่น่าไว้วางใจของ USDT เอง เช่น การไม่ยอมโดน audit เป็นต้น แต่ถึงอย่างไร USDT ก็จะยังเป็นเหรียญที่มีคนนิยมมากที่สุดในโลก

แค่ Used Case เดียว

นายพีรเดชย้ำว่า กรณี UST และ USDT เป็นคนละประเด็นกัน

“ถ้ามองในแง่การพัฒนานวัตกรรมก็เหมือนการออกแบบมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของค่ายหนึ่งที่ออกมาแล้วฮิตมาก และพอถึงจุดหนึ่งพบว่ามีส่วนที่ไม่เวิร์ก คนก็ขายมือถือรุ่นนั้นทิ้งไป แต่มีมือถือรุ่นใหม่ได้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อทั้งอุตสาหกรรมขนาดนั้น

ผมมองว่ามันแค่เป็นหลักฐานว่า เป็นกรณี used case หนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีวิธีออกแบบการใช้งานหลายกรณี หลายระบบเพื่อให้ได้ผลอันเดียวกัน ถ้าเทคโนโลยีไม่เวิร์กก็แค่เปลี่ยนเทคโนโลยี”

โดยส่วนตัว ผมคงไม่มีอะไรจะแนะนำ แต่เห็นว่าควรดูเหตุการณ์นี้ แล้ว take note ว่าเหตุการณ์ของ LUNA เป็นหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่เรียนรู้จากมันถ้าเป็นไปได้

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

จับตา “โดมิโนเอฟเฟ็กต์”

ด้าน นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า กรณี LUNA มีขอบเขตจำกัดของความเสียหายอยู่ ไม่ได้กระทบไปยังทุกโปรเจ็กต์ขนาดนั้น แต่อย่างไรก็มีคนที่เสียหายจำนวนมาก และก็ไม่รู้ว่าในบรรดาคนที่เสียหาย มีสถาบันการเงินอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ มีคนที่มีหลายโปรเจ็กต์ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้หากำไรด้วยหรือเปล่า ถ้ามีก็จะกลายเป็น domino effect ได้ และว่า เรื่องนี้ยังต้องจับตาดูกันต่อ

เมื่อถามว่ากรณี LUNA ส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของคริปโตเคอร์เรนซีหรือไม่ นายศุภกฤษฎ์กล่าวว่า “มองได้ 2 แง่มุม ในแง่แรก คือ การทำนวัตกรรมไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ในครั้งเดียว เช่น เราจะผลิตเครื่องบิน ก็จะไม่มีทางที่จะไม่เคยตกเลย”

ถอดบทเรียนเพื่อไปต่อ

แต่ส่วนสำคัญ คือบทเรียนที่ได้ระหว่างเหตุการณ์นี้ต่างหากว่า “เราได้เรียนรู้อะไร นั่นต่างหากที่จะทำให้ทุกครั้งที่เราสร้างเครื่องบินมันจะเป็นเครื่องบินที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น เปรียบได้กับระบบ decentralize finance ที่จะได้ประสบการณ์ทุกครั้งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ที่จะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ

หรือในอีกแง่อาจได้ข้อสรุปว่าไม่เวิร์กก็เลิกทำไปเลย ทั้งหมดคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ถ้ามองว่าคือ “นวัตกรรม” เราก็จะไม่มองว่าคือความล้มเหลว แต่จะมองว่าคือความรู้ที่เพิ่มขึ้นว่าทำอย่างนี้ไม่เวิร์ก แล้วทำอย่างไรถึงจะเวิร์ก จะได้ไปหาต่อย้ำ

“ก่อนที่เราจะเข้าไปลงทุนในโปรเจ็กต์แบบนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าหลายโปรเจ็กต์อยู่ในช่วงทดลอง ฉะนั้นมันมีความเสี่ยงสูง ไม่ใช่ระบบที่ผ่านการทดลอง และอยู่มานานแล้ว อย่างกรณีของบิตคอยน์ มันพิสูจน์มานานแล้วว่าโอเค แต่ตัวอื่น ๆ ยังไม่ขนาดนั้น ถ้าเราลงทุนไปในโปรเจ็กต์ใดโปรเจ็กต์หนึ่งมาก เป็นความเสี่ยง เราจึงต้อง diversify ซึ่งไม่ใช่แค่ในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ควรต้องลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นเวลามันระเบิดก็หมดเลย ไม่เหลือ”

นายศุภกฤษฎ์ทิ้งท้ายด้วยว่า ต้องถามตัวเองว่า 1.เราเข้าใจใช่ไหมว่าทำอะไรอยู่ 2.เรารู้ความเสี่ยงใช่ไหม และขอให้เรียนรู้แล้วกันว่า เราผิดพลาดตรงไหน แล้วจะพัฒนาตนเองปรับปรุงแก้ไขอย่างไร