รู้จัก whoscall แอปบล็อกเบอร์แปลก-สแปม ลดเสี่ยงภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์

Gogolook ยกเครื่อง Whoscall แอปพลิเคชั่นคัดกรองเบอร์ และข้อความ ชูบิ๊กดาต้า และแอดว๊านซ์ AI ช่วยสกรีน ลดความเสี่ยงผู้บริโภคจากมิจฉาชีพ และแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ตั้งเป้าเป็นแอปสามัญประจำเครื่องคนไทย

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 รายงานข่าวจาก Gogolook บริษัทด้านเทคโนโลยีและพัฒนาแอปพลิเคชั่น เปิดเผยว่า บริษัทได้ยกเครื่องแอปพลิเคชั่น Whoscall ขึ้นมาใหม่ด้วยบิ๊กดาต้าซึ่งเป็นฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ 1.6 พันล้านเลขหมายทั่วโลก รวมเข้ากับความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอที่พัฒนาขึ้น (แอดวานซ์ เอไอ) รองรับเบอร์โทรขององค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐทำให้สามารถปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพได้มากขึ้น โดยบริษัทคาดว่ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีถึง 30% ของประชากรในประเทศไทย

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Gogolook กล่าวว่าการคุ้มครองผู้คนจากการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นเรื่องสำคัญ และกำลังเป็นปัญหากับสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะในประเทศไทยในปีนี้พบว่ามียอดการบล็อกเบอร์มิจฉาชีพมากถึง 6.4 ล้านครั้งระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค.2565 เทียบเท่ากับยอดการบล็อกเบอร์ทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา

‘เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐทั่วโลก โดยในใต้หวันมีการทำงานร่วมกับกองตำรวจสืบสวนอาชญากรรม และในเกาหลีได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน เป็นต้น เช่นกันกับในประเทศไทยได้มีการร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ และกลุ่มทรู รวมถึงการพูดคุยปรึกษากับ กสทช.เพื่อทำงานร่วมกันด้วย’

ด้านนายสกลพร หาญชาญเลิศ ผู้อำนวยการ ธุรกิจด้านบริการใหม่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่ากลุ่มทรูต้องการให้ลูกค้าปลอดภัยจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือด้วยการมีระบบแจ้งเตือนก่อนจึงร่วมกับ gogolook ในการสร้างระบบแจ้งเตือนด้วยแอปพลิเคชั่น Whoscall โดยแจกโค้ดให้ผ่าน TrueID พบว่าได้รับการตอบรับดีมาก แสดงให้เห็นความต้องการที่จะใช้งานแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ซี่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาร่วมกันต่อเพื่อปกป้องลูกค้าต่อไป

นางสาว ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย เสริมว่า คนไทยคุ้นเคยกับ Whoscall บ้างแล้ว เพราะเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2555 ล่าสุดได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ พร้อมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีเอไอ เพื่อตอบสนองผลการศึกษาที่พบว่า การหลอกลวงทางโทรศัพท์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงมาก จากผลสำรวจในครึ่งแรกของปี 2565 เท่ากับปี 2564 ทั้งปี ที่ 6.4 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการโทรศัพท์ รองลงมาคือข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปีนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องการยืนยันเบอร์แปลก และการแจ้งเตือนเบอร์ที่มีความเสี่ยง ที่เกิดจากการวิเคราะห์โดยเอไอ และในระดับถัดมาจะคัดกรองลิ้งก์ที่มีไวรัส หรือมัลแวร์ต่าง ๆ ที่แฝงมากับเอสเอ็มเอสได้ด้วย และคาดว่าในอนาคตพร้อมที่จะอัพเดตและยกระดับความสามารถให้ต่อต้านการหลอกลวงในเมต้าเวิร์สได้ด้วย

เป้าหมายเราในปีนี้ คือ ต้องเป็นแอปสามัญประจำเครื่อง ซื้อมาแล้วมีเลย จากผลสำรวจทั่วโลกพบว่าในต่างประเทศมียอดการดาวน์โหลด Whoscall ราว 30% ส่วนของไทยน่าจะมากกว่านั้นเพราะเราตั้งใจเป็น Main Market เนื่องจากแนวโน้มการหลอกลวงทางโทรศัพท์สูงมาก

อีกทั้งยังมีการอัพเดทฐานข้อมูลและเอไอ นำไปสู่ความสามารถในการทำนายพฤติกรรมของมิจฉาชีพได้ล่วงหน้า และในปีนี้บริษัทยังต้องการขยายพาร์ทเนอร์โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรอื่น ๆ ในประเทศไทยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ Whoscall เป็นแอปพลิเคชั่นที่ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดาวน์โหลดจาก Play Store สำหรับ Android และ App Store สำหรับ ios โดยมีฟีเจอร์หลัก คือ 1. ระบุตัวตนสายแปลกที่โทรมา ช่วยแยกสายสำคัญและสายสแปม 2.ค้นหาหมายเลขจากฐานข้อมูล 1.6 พันล้านเลขหมายทั่วโลก


ส่วนบริการพรีเมี่ยม จะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์เสริม เช่น บริการบล็อกสายสแปมที่โดนรายงานเข้ามาอัตโนมัติ การอัพเดทฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์อัตโนมัติ และการสแกน URL ในข้อความเอสเอ็มเอสอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากลิ้งก์หลอกลวง รวมถึงการใช้งานแบบไม่มีโฆษณาด้วย