คุยกับ แม่ทัพ AWS ไทย ทำไม “คลาวด์” เป็นเมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์

โควิดเป็นตัวเร่งให้การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ขยับจากทางเลือกเป็นทางรอดของหลายธุรกิจ นั่นยิ่งทำให้การใช้งาน “คลาวด์คอมพิวติ้ง” เพิ่มขึ้นมาก ทั้งเพื่อรองรับรูปแบบการทำงานทางไกล (remote work) ของพนักงาน และการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น

“อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” หรือ AWS เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแถวหน้าด้านคลาวด์ ทั้งในแง่การเป็นผู้บุกเบิกตลาดและถือครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดทั้งในระดับโลกและในบ้านเราเอง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” Country Manager ของ AWS ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2565 มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลง การขยายตลาด และเติบโตด้านการใช้คลาวด์ของธุรกิจในไทย ตลอดจนบทเรียนจากโควิดที่ผ่านมา

Q : แผนการดำเนินธุรกิจในไทย

ในไทยเราโฟกัส 3 เรื่อง ทำมาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องแรกคือ ลูกค้า เราให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เดิม AWS มีทีมดูแลลูกค้าองค์กร และลูกค้า SMEs ก็เพิ่มทีม digital native business มาดูแลลูกค้ากลุ่มสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะ รวมถึงกลุ่มที่จะเติบโตเป็นยูนิคอร์นในบ้านเรา

การแบ่งทีมก็เพื่อให้สอดคล้องกับรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น จากเดิมทีมงานจะคละกันหนึ่งทีมดูแลทั้งธนาคารและโทรคมนาคม ซึ่งไม่สามารถตอบความต้องการของลูกค้าในเชิงลึกได้ จึงแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น

2.เน้นการสร้างการเติบโตไปกับพาร์ตเนอร์ (scaling with AWS partner) และ 3.การแบ่งระดับเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละลำดับ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.secured cloud infrastructure AWS ในไทยตั้งมาปีที่ 6 จะเห็นว่าลูกค้าจะโฟกัส infrastructure services คือหาสิ่งไปแทนเซิร์ฟเวอร์เดิมเพื่อใช้ในการคำนวณและเก็บข้อมูลเป็นหลัก

องค์กรส่วนใหญ่ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ on-premise และ hybrid และใช้จ่ายสำหรับคลาวด์เพียง 5% เท่ากับมีตลาดที่ยังเปิดกว้างอีกมาก เพราะคลาวด์คืออนาคต เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เป็นเมกะเทรนด์

2.modernization เป็นกลุ่มที่ผ่านการใช้ระบบคลาวด์มาระยะหนึ่ง และพร้อมพัฒนาไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น เช่น AI และ machine learning และ 3.intelligent services and sustainability เรามองไปถึงการเตรียมความพร้อมลูกค้าสู่ความยั่งยืน เช่น รักษาระดับประสิทธิภาพการทำงานในระดับที่ลูกค้าต้องการใช้งานจริง แต่ใช้พลังงานน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น

สรุปคือ ลูกค้าที่ยังไม่ใช้คลาวด์เราจะผลักดันให้ใช้คลาวด์มากขึ้น ลูกค้าที่เริ่มใช้แล้วจะปูไปสู่ระดับที่ 2 ส่วนระดับที่ 3 จะพยายามปูทางสำหรับอนาคตที่ลูกค้าจะใช้คลาวด์ที่มีความสลับซับซ้อนและมีความฉลาดมากขึ้น

Q : บทเรียนโควิด-19

ถ้าเรื่องพนักงานเราให้ความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง จะมีเรื่องของการทำงานที่บ้าน บริษัทเทคโนโลยีจะทำงานผ่านรีโมตเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ในส่วนของลูกค้าองค์กรเราสนับสนุนเขาว่าหลังผ่านพ้นเรื่องความปลอดภัยไปแล้ว

เขาต้องคิดแล้วว่าจะทำให้ธุรกิจดำเนินต่ออย่างไร มีหลายองค์กรที่ต้องช่วยให้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อทำงานต่อไปได้ แม้จะทำงานแบบรีโมตหรือแบบหน้าจอเสมือน (virtual desktop)

องค์กรต่าง ๆ ใช้โอกาสนี้ปรับตัว เพราะเริ่มเห็นแล้วว่าแม้โควิดจะหายไปแต่นิวนอร์มอลยังอยู่ เขาต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ทำแพลตฟอร์มโรบินฮูดที่จะเป็น new S-curve

Q : ทำไมองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ใช้พับลิกคลาวด์

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่เราที่จะทำความเข้าใจกับลูกค้า พยายามช่วยลูกค้า เพิ่มทักษะและความรู้ในการใช้คลาวด์ ถือเป็นโอกาส มีปัจจัยเชิงบวกหลายอย่าง 1.การดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องใช้คนจำนวนมาก หลายองค์กรมองว่าการย้ายไปคลาวด์ไม่ต้องหาคนมาช่วยดูแลมากนัก

2.ทักษะคน IT เขาไปเป็น DEV สร้างแอปพลิเคชั่นที่มีประโยชน์กับธุรกิจดีกว่ามานั่งดูแลเซิร์ฟเวอร์ ที่เห็นชัดอีกอย่าง คือ การขาดแคลนชิปเซตที่ใช้ทำเซิร์ฟเวอร์ แต่ก่อนรอ 2-3 เดือนก็ทำได้ ตอนนี้ 6-12 เดือน ลูกค้ารอไม่ไหวธุรกิจต้องเดินหน้า

ปัจจุบันสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ ที่เราเรียกว่า born in cloud เทรนด์ที่จะเห็นคือบริษัทสตาร์ตอัพใหม่จะกระโดดเข้ามาใช้คลาวด์เลย เป็นข้อดีสำหรับบริษัทเกิดใหม่ คลาวด์ตอบโจทย์ หากโตเร็วก็จะช่วยสเกลธุรกิจได้

Q : มีคำแนะนำองค์กรที่ยังไม่ใช้

ต้นทุนในการทำเซิร์ฟเวอร์หรือดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทต้องดูว่ามีอะไรบ้าง 1.ฮาร์ดแวร์ 2.ซอฟต์แวร์ 3.คน ฮาร์ดแวร์ โดยเฉลี่ย 3-5 ปีจะหมดดอายุ ยืดได้อีกหน่อยก็ไม่ควรเกิน 7 ปี เพราะ 4-5 ปีผู้ผลิตก็ไม่ทำอะไหล่ต่อแล้ว จึงเป็นระเบิดเวลา ซอฟต์แวร์ก็ด้วย

เมื่อเวลาผ่านไปจะไม่มีการบำรุงรักษาหรืออัพเดตระบบ ส่วนสกิลคนที่จะมาทำงาน มีองค์กรเยอะมากบอกว่า 95% รู้สึกกลาง ๆ ว่าจะเปลี่ยนดีไหม บางองค์กรเพิ่งซื้อของทำดาต้าเซ็นเตอร์ บางองค์กรมาลองใช้บางส่วนเป็นคลาวด์

เราจะค่อย ๆ ให้ความรู้ว่าส่วนที่กำลังหมดอายุนี้ขึ้นไปบนคลาวด์ได้อย่างไร ทั้งข้อดีข้อเสียและต้นทุนที่ต้องจัดการ

บริษัทที่ลงทุนทำเซิร์ฟเวอร์ไปแล้ว และกำลังพิจารณาเรื่องต้นทุน เราจะมีทีม cloud economic team ช่วยพิจารณาในแง่ของรูปแบบการเงินเป็นรายกรณี และมีทีมช่วยบริการองค์กรขนาดใหญ่ที่สองจิตสองใจ คือ เพิ่งลงทุนทำระบบไป 2-3 ปี

ทีมจะเข้าไปช่วยหาวิธีการบริหารจัดการ นำบางส่วนขึ้นคลาวด์ มีพาร์ตเนอร์รับซื้อ asset ของเซิร์ฟเวอร์ไปบริหารต่อ เพื่อให้องค์กรขนาดใหญ่พิจารณาย้ายไปคลาวด์ได้ง่ายขึ้น

Q : อะไรทำให้ AWS มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 30%

น่าจะมี 3 อย่าง 1.บริการ เราลงทุนกับการพัฒนาบริการเยอะมาก ปีที่ผ่านมามีฟีเจอร์และบริการเพิ่มขึ้น 3,000 กว่าอย่าง ทิ้งห่างคู่แข่งไปเยอะมาก หากเราเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการพับลิกคลาวด์คงไม่อยากสลับไปใช้บริการหลายอย่างเพราะขาดบริการบางตัวที่ต้องใช้ ความหลากหลายของบริการและเทคโนโลยีน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าและครอบคลุมมากที่สุด ทำให้ได้รับความนิยมที่สุด

2.ฐานลูกค้าครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ทั้งเอ็นเตอร์ไพรส์ ธนาคาร สตาร์ตอัพ SMB digital native หรือแม้แต่ภาครัฐรวมกันแล้วน่าจะมีฐานลูกค้าหลักล้านรายเข้ามาบนพับลิกคลาวด์

3.พาร์ตเนอร์ครอบคลุมกว่าแสนรายทั่วโลก น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าในมุมที่เขาเข้าถึงพาร์ตเนอร์อื่น ๆ มีพื้นที่สนับสนุนลูกค้าได้เต็มที่ ส่วนในไทยเข้าใจว่ายังไม่มีคนทำ เราจึงมีฐานลูกค้าที่กว้างที่สุด

เชื่อว่าการแข่งขันทำให้ตลาดโตขึ้น และตลาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น หากมีคนเข้ามามากขึ้นก็สะท้อนทิศทางการเติบโตที่ชัดเจน ส่งผลดีในระดับประเทศด้วย เป็นทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น

Q : ธุรกิจในไทยอยู่ในระดับไหน

ตอบรายอุตสาหกรรมยาก แต่โดยรวมไปในทิศทางที่ดี ในแง่ของการมีออปชั่นในคลาวด์ ถ้าเรามองประโยชน์ในเรื่องต้นทุน บุคลากร เรื่องการที่ต้องปรับตัวเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เปิดตลาดไปภูมิภาคหรือระดับโลก องค์กรควรมูฟไปคลาวด์ตั้งแต่วันนี้

อย่างน้อยควรเป็นสเตจหนึ่ง สุดท้ายเราเชื่อว่าองค์กรทุกขนาดทุกอุตสาหกรรมว่าการทรานส์ฟอร์มไม่ใช่ “ถ้า” อีกแล้ว แต่ต้อง “ทำอย่างไร” มากกว่า และการใช้คลาวด์เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้องค์กรทรานส์ฟอร์ม

Q : การผลักดันให้ไทยเป็น Technology Hub

ประเทศไทยมีความสามารถและศักยภาพในการเป็นเทคโนโลยีฮับ เอกชนตื่นตัวนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร การนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ลูกค้า AWS เช่น เอสซีจี ซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง นำ AWS IOT มาใช้ในโซลูชั่นสมาร์ทโฮม หรือสตาร์ตอัพ Pomelo ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้ Amazon Personalize เพิ่มประสิทธิภาพข้อเสนอสำหรับลูกค้าทางออนไลน์

ภาครัฐก็มุ่งมั่นที่จะปรับตัวและส่งเสริมให้เอกชนนำเทคโนโลยีมาใช้ ล่าสุดกระทรวงดีอีเอสร่วมกับ AWS ทำงานร่วมกันบนระบบคลาวด์

สิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน คือ การพัฒนาทักษะบุคลากร จากผลการสำรวจล่าสุดที่เราให้อัลฟ่าเบต้าจัดทำเพื่อดูความต้องการของบุคลากรที่มีทักษะด้านคลาวด์ในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่ามีแรงงานถึง 86 ล้านคนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลภายในปีหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด และทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นทักษะที่สำคัญอันดับต้น ๆ