AIS-ดีป้า สร้างศูนย์นวัตกรรม 5G แห่งแรกในอีอีซี

เอไอเอส ร่วมมือดีป้า สร้างศูนย์ AIS 5G NEXTgen Center พัฒนา ทดสอบโซลูชัน และเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี พร้อมเดินหน้าผนึกพาร์ทเนอร์ต่างชาติ เชื่อมโยงตลาด และแรงงานมีทักษะต่อยอดนวัตกรรม

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เอไอเอส บิสิเนส และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ดีป้า) ประกาศความร่วมมือในการสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและการทดสอบเทคโนโลยีบนโครงข่าย 5G แห่งแรกที่ Thailand digital valley ภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) พร้อมกับ เปิดตัว AIS NEXTgen Platfrom สำหรับพัฒนาการปรับใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรม

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่ารัฐบาล และดีป้า วางตำแหน่ง 5G ให้เป็นพื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยี และเศรษฐกิจดิจิทัลมากว่า 5 ปี แล้ว จึงจัดสรรที่ดินเตรียมพื้นที่พัฒนาและทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี เกี่ยวกับ 5G กว่า 4,500 ตารางเมตร ภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) และดีป้าได้เตรียมตึกสำหรับศูนย์ 5G ไว้ 4 ตึก

โดยมี เอไอเอส เป็นเจ้าแรกที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของดีป้าที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเทคโนโลยี 5G “การนำเทคโนโลยีนี้ไปปรับใช้จริง ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ทำคนเดียวก็เสร็จ เราจึงอยากสร้างพื้นที่ Thailand digital valley ไว้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการอยู่อาศัยของเหล่านักพัฒนาและสตาร์ทอัพดิจิทัลให้เป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการต่อยอดพัฒนานวัตกรรม”

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีความพร้อมในเรื่องการวางโครงข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่ยังขาดการนำไปใช้จริง และไม่มีทางที่จะทำคนเดียวได้จึงต้องการพาร์ทเนอร์จำนวนมาก และต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในธุรกิจหรือองค์กรต้องใช้ได้จริง “เราจึงต้องมี ศูนย์การเรียนรู้ การทดสอบ และสร้างสรรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ใช้ได้จริง จึงร่วมกับดีป้าเพื่อสร้าง AIS 5G NEXTgen center เน้นให้เป็นพื้นที่เรียนรู้จากพาร์ทเนอร์และสตารทอัพต่างๆ”

สำหรับแพล็ตฟอร์ม AIS 5G NEXTgen Platform จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการบริหารการใช้เครือข่าย 5G ครบวงจร เป็นการต่อยอดจากที่เคยทำโซลูชั่นต่างๆ มาแล้ว โดยแพล็ตฟอร์มนี้จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงการจัดการแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้จากทุกที่ สามารถติดตามผลการทำงานของหน่วยข้อมูลกระจายศูนย์ (MEC infastructure) ควบคุมติดตามแอปต่างๆ ได้ผ่านแพล็ตฟอร์มเดียว และมี Marketplace รวบรวมแอปพลิเคชั่นจากพาร์ทเนอร์ระดับโลกไว้ด้วย

ทำให้ธุรกิจเลือกใช้แอปที่เหมาะกับตนได้อย่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัท Singtel NCS เชื่อมโยงตลาดเทคโนโลยี และโครงข่าย และยังร่วมกับ Siemens ผู้นำด้านเทคโนโลยีปฏิบัติการ (OT) ในโรงงานอุตสาหกรรม มาช่วยผสานเทคโนโลยีข้อมูล (IT) กับเอไอเอส เพื่อปลดล็อกศักยภาพสายพานการผลิต

“นักพัฒนาสามารถส่งแอปพลิเคชั่น และโซลูชั่นขึ้นไปบนมาร์เก็ตเพลส ทำให้องค์กรธุรกิจต่างประเทศที่อยู่บนแพล็ตฟอร์มของพันธมิตร ได้แก่ Singtel และ NSC เข้าถึงได้ทำให้เรามีตลาดที่ใหญ่ในระดับโลก”

นายธนพงษ์กล่าวด้วยว่าการร่วมมือกับ Siemens เป็นการพยายามสร้างโซลูชั่นในเชิงลึก (Vertical) ที่ไม่สามารถใช้โซลูชั่นหรือแอพทั่วไปได้จากแพล็ตฟอร์ม ซึ่งพบว่าปัญหานี้เกิดในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม แม้เอไอเอสจะชำนาญด้านอุตสาหกรรมไอซีที

แต่เมื่อเราเข้าไปเจอความซับซ้อนของลูกค้าองค์กรด้านอุตสาหกรรมเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ จึงต้องพึ่งพาผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีปฏิบัติการ (OT-operation technology) มาผสานกับความชำนาญของเราคือเทคโลยีข้อมูล (IT-Information technology) สร้างโซลูชั่น 5G สำหรับ Smart Manufacturing

“จะมองว่าทั้งการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ Sintel และ NSC เป็นทางลัดในการพัฒนาคนที่มีทักษะเข้ามาในเครือข่ายก็ได้ เพราะลูกค้าเป็นส่วนที่พาร์ทเนอร์พาเข้ามาหาเราด้วย และมองว่าแค่การเติบโตตามปกติ (Oganic Growth) เรายังไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะทางเทคโนโลยีได้ทัน


ดังนั้นการที่เรามีแพล็ตฟอร์มและพื้นที่ศูนย์กลางของคนทำงานด้านเทคโนโลยี 5G ที่ผมบอกไว้ตอนแรกว่านั่นคือพื้นที่ของการเรียนรู้และทดสอบ ซึ่งเทคโนโลยีที่ลูกค้าได้เรียนรู้ ทดสอบและนำไปใช้อาจจะมาจากแพล็ตฟอร์มที่เป็นตลาดโลกของพาร์ทเนอร์เรา ซึ่งเราจะได้เรียนรู้จากเขาไปด้วย เขาก็จะยังทำงานร่วมกับเราและลูกค้าต่อไปด้วย”