ยื่น 1 หมื่นชื่อ ค้าน กสทช. เคาะควบรวมทรู-ดีแทค

ทรู-ดีแทค

นักวิชาการชี้ควบรวมทรู-ดีแทค ฉุดจีดีพีไทยร่วง 3 หมื่นล้าน สภาองค์การของผู้บริโภคเตรียมระดม 1 หมื่นชื่อ ค้านควบรวมทรู-ดีแทค ก่อน กสทช.เคาะ 10 ส.ค.นี้ หวั่นยุคผูกขาดคลื่นความถี่กระทบผู้บริโภค จี้ยึด ม.27 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่น ป้องกันผูกขาด

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า  สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย จัดเวทีเสวนา Consumer Forum EP.3 “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” กรณีผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมของ “ทรู-ดีแทค” และเอไอเอส ประกาศควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน กับทรีบรอดแบนด์ (3BB)

ก่อนที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพิจารณาให้ข้อสรุปในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 โดยหลังจากนี้สภาได้เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านกรณีดังกล่าว 10,000 คน จาก Chang.org เพื่อเข้ายื่นต่อ กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค. 65 เวลา 09.00 น.

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 7-120% โดยหากให้ทรูและดีแทคควบรวมได้ ทางเอไอเอสและ 3BB ก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 ที่กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอข้อมูลผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ตามที่เคยเสนอ กสทช.ว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ตลาดจะกระจุกตัว มีผลต่อราคาหลังควบรวมที่จะพุ่งขึ้น 5-200% อีกทั้งจะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้จีดีพีของประเทศลดลง 0.05-2% หรือ 1-3 หมื่นล้านบาท อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 0.05-2% สมมุติฐานนี้คือกรณีที่ กสทช.ไม่เข้าควบคุมหลังควบรวม

ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการคณะกรรมการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู-ดีแทค กล่าวว่า ประเด็นที่ว่าการควบรวมจะช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ เอื้อให้เกิดการขยายการลงทุนนั้น ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์ผู้บริโภค ซึ่งจะต้องมาจากการแข่งขันและค่าบริการที่ถูกลง อีกทั้งโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ หากค่าบริการแพงขึ้นย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ

ซึ่งตาม ม.27 พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องป้องกันการผูกขาด ถ้าทำให้การควบรวมทรู-ดีแทคเกิดขึ้น เอไอเอส-3BB ก็ทำได้ และเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่นควบรวมโดยไม่กลัวการผูกขาด และอีกด้านหนึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ หากเห็นเเล้วว่ากฎหมายป้องกันการผูกขาดไม่สามารถใช้งานได้ ควรถูกยกมาปรับปรุงใหม่ ช่วยปกป้องประโยชน์ประชาชน หรือให้กม.นี้สามารถ “สั่งแยกกิจการ” ที่ผูกขาดได้ภายหลัง

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ย้ำจุดยืนคัดค้านดีลจากผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ที่มีธุรกิจโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก โดยบทบาทขององค์กรกำกับดูแลต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่ดีและคุ้มครองประโยชน์ผู้บริโภค ทั้งการให้ควบรวมและสร้างเงื่อนไขกำหนดพฤติกรรมหลังควบรวม ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะเท่าทันพฤติกรรมเอกชน

ยาแรงอีกประการคือ การอนุญาตให้ควบรวม แต่บังคับให้ปรับโครงสร้าง หรือบังคับให้ขายทรัพยากรบางอย่างออกมา ซึ่งองค์กรกำกับดูแลต่าง ๆ ของไทยไม่เคยใช้ยาแรงแบบนี้ สุดท้ายคือการไม่อนุญาตให้ควบรวม จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างธุรกิจโทรคมนาคมให้มีการแข่งขันที่ดีต่อทุกฝ่าย

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวว่า ประเทศไทยใช้เวลาหลายสิบปีในการเปลี่ยนระบบสัมปทานคลื่นความถี่ มาสู่ระบบใบอนุญาตที่ให้เสรีภาพประกอบธุรกิจโทรคมนาคมได้ทุกที่ พร้อมเอื้อให้เกิดผู้ประกอบการรายที่ 4 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ และด้วยผู้เล่น 3 รายหลักที่ครองตลาดอยู่ หากมีการควบรวมยิ่งทำให้เหลือ 2 ราย ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจในระบบใบอนุญาต ซึ่งพาเราถอยหลังไป 20 ปี ด้วยระบบสัมปทานผูกขาด ประกอบกับเอไอเอสจะควบรวมกับ 3BB ยิ่งทำให้เห็นว่าโทรคมนาคมกำลังอยู่ในทิศทางที่อันตราย

ด้านนายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า การควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมขนาดใหญ่ เป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อค่าบริการ แต่ยังกระทบถึงคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาโครงข่าย คุณภาพของสัญญาณ อาจจะแย่ลงได้ หากอนุญาตให้ควบรวมเกิดขึ้นเชื่อว่าผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือย่อมคิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาหารายได้ เพื่อให้มีกำไรส่วนเพิ่ม

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมือง ทุนผูกขาดคลื่นความถี่มีมากว่า 20 ปี และมีอำนาจเหนือตลาดจะนำไปสู่การผูกขาด

กรณีอินเทอร์เน็ตเอไอเอส ที่มีสัดส่วน 14% ของตลาด หากรวม 3BB ก็เป็นผูกขาด ไม่ใช่แค่ทรูกับดีแทค ยังมีธุรกิจอีกมากในไทยที่มีลักษณะนี้ ดังนั้น เป็นปัญหาโครงสร้างและทางกม. เราจะเห็นทุนผูกขาดที่มีสัดส่วนการตลาดเกิน 50% ในธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งมีการถือหุ้นกันอยู่ไม่กี่ตระกูล