บุก กสทช. ยื่นหมื่นรายชื่อคัดค้านดีล “ทรู-ดีแทค”

ยื่นหมื่นรายชื่อคัดค้าน
ยื่นหมื่นรายชื่อคัดค้าน "ทรู-ดีแทค"

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านดีล “ทรู-ดีแค” ยื่น กสทช. พร้อมจี้เผยข้อมูลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ 4 คณะแก่สาธารณะ-ขอไม่ให้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณี กสทช.มีหน้าที่พิจารณาดีล

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและผู้แทนผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมตัวที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงจุดยืนคัดค้านดีล “ทรู-ดีแทค” โดยยื่นรายชื่อผู้ร่วมคัดค้านนับหมื่นรายชื่อ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ กสทช. และศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ มารับมอบ

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อ ประธานคณะกรรมการ กสทช. ว่าขอให้ ไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น

เนื่องจากทั้งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) ไม่ได้ขออนุญาต ต่อ กสทช. ซึ่งเป็นกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ จึงได้ส่งหนังสือขอให้ กสทช.ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมดังกล่าว

ต่อมาได้รับทราบว่า กสทช.ได้เรียกบริษัททั้งสอง ชี้แจงและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค จำนวน 4 คณะ เพื่อศึกษาผลกระทบในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป

อีกทั้งคณะกรรมการ กสทช.ยังมีมติสั่งการ ให้สำนักงาน กสทช.มีหนังสือขอหารือ กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” โดยสำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจนกระทั่งทราบว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565


เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” และขอให้คณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์และความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ประชาชนรับรู้ รวมทั้งรายชื่อผู้คัดค้านดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” จำนวนหมื่นรายชื่อ