ทุนภูธรเมิน “รร.ดาราเทวี” คาด AWC จ่อช็อป 1.2-1.5 พันล้าน

รร.ดาราเทวี

กรณีที่ศาลแพ่งเชียงใหม่มีคำสั่งยกคำร้องของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์ อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด

ที่ได้ยื่นคำร้องขยายระยะเวลาวางเงินซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือจากผู้ชนะประมูล “โรงแรมดาราเทวี” หลังจากขอเลื่อนมา 2 ครั้ง หลังทำสัญญาซื้อขายผ่านมาแล้วกว่า 9 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

โดยผู้ชนะการประมูลได้ขอยื่นขยายระยะเวลาการวางเงินออกไปถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2565อ้างเหตุว่า ติดการประเมินราคาหลักประกันใหม่ หรือกำลังเร่งระดมทุนนั้น ศาลแพ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งยกคำร้องของบริษัทผู้ชนะประมูล ทำให้ต้องเปิดประมูลรอบใหม่อีกครั้ง โดย IFEC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้อีก เนื่องจากทำผิดสัญญา

ศาลพิเคราะห์คำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้ซื้อทรัพย์แล้ว เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ พร้อมริบเงินมัดจำ 110 ล้านบาท และกรมบังคับคดีต้องเตรียมเปิดประมูลขายทอดตลาดรอบที่ 3 อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้นั้น

เติมจิ๊กซอว์ AWC ย่าน ศก.

สำหรับกระแสความเคลื่อนไหวในพื้นที่เกี่ยวกับนายทุนที่จะเข้าร่วมประมูลโรงแรมดาราเทวีครั้งที่ 3 นั้น แหล่งข่าวเจ้าของธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อทรัพย์โรงแรมดาราเทวี

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักในแง่ของการทำกำไรทางธุรกิจ ซึ่งการที่นักลงทุนทั่วไปหรือนักลงทุนท้องถิ่นจะตัดสินใจซื้อนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะซื้อไปก็ขาดทุน แม้มีจุดขายที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ แต่ในเชิงการตลาดอาจทำได้ยากที่จะตอบโจทย์ตลาดยุคนี้ หากกลุ่มทุนที่จะซื้อไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจโรงแรมและไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่

ดังนั้น กลุ่มทุนที่จะซื้อทรัพย์ชิ้นนี้จะต้องเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงแรม ซึ่งกลุ่มทุนที่มีความเป็นไปได้ และมีศักยภาพมากที่สุด โดยเฉพาะบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

เพราะมีธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ เพียงแต่อาจรอให้ราคาประมูลทรัพย์ต่ำลงกว่านี้ คาดว่าราคาขายทรัพย์ของโรงแรมดาราเทวีจะไปหยุดอยู่ที่ราว 1,200-1,500 ล้านบาท ซึ่งหาก AWC เข้าประมูลซื้อ จะเป็นการเติมเต็มจิ๊กซอว์ของกลุ่มทุน AWC ในการทำธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากโรงแรมดาราเทวีมีจุดขายมี magnet อยู่แล้ว และดาราเทวีเป็นมากกว่าโรงแรม 5 ดาว คือขึ้นชั้นระดับ 6 ดาว

“โรงแรมดาราเทวีสมัยลงทุนก่อสร้างปี 2545 วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท กรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ราคา 2,116 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ปรับราคาลงร้อยละ 10 ตามระเบียบบังคับเหลือ 1,904.62 ล้านบาท IFEC ชนะประมูล 2,012,620,000 บาท ซึ่งหากกลุ่ม AWC ซื้อทรัพย์โรงแรมดาราเทวีได้ในราคาที่ต่ำ ก็มีโอกาสในการทำกำไรทางธุรกิจสูง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีกลุ่มทุนขาใหญ่ที่มีศักยภาพซื้อกิจการโรงแรม เช่น บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซี.พี.แลนด์ และบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด หรือ S ในเครือบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

ซึ่งประกาศรับซื้อพวกกิจการโรงแรมและรีสอร์ตเช่นเดียวกัน แต่ที่วิเคราะห์ว่า กลุ่มทุนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดและมีศักยภาพที่สุดที่จะสนใจซื้อกิจการของโรงแรมดาราเทวีใน จ.เชียงใหม่ คือ กลุ่ม AWC ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดีเท่านั้น

เพราะปัจจุบันกลุ่ม AWC เป็นบริษัทในกลุ่มทีซีซี (TCC Group) มีธุรกิจครอบคลุมถนนช้างคลานย่านไนท์บาซาร์อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

อาทิ โรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ (Dusit D2), ศูนย์การค้าเดอะพลาซ่า, กาแลไนท์บาซาร์, ศูนย์การค้าเชียงใหม่ไนท์บาซาร์, โรงแรม 5 ดาว เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (เตรียมเปลี่ยนเป็นเชนแมริออท), ตลาดอนุสาร, โรงแรมซีเอช โฮเทล เชียงใหม่ (CH Hotel), ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบนถนนศรีดอนไชย ซึ่งอยู่ใกล้ถนนช้างคลานย่านไนท์บาซาร์

อาทิ สุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์, โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ระดับ 5 ดาว อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ รวมถึงโรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ซึ่งถือเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 260 ห้องพัก ตั้งอยู่บนติดกับแม่น้ำปิง บนถนนเจริญประเทศ อยู่ใกล้กับไนท์บาซาร์

ทุนภูธรเมินคอสต์บริหารสูง

ด้านแหล่งข่าวในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่อีกราย กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในแวดวงนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เชียงใหม่ คาดว่าไม่น่าจะมีใครมาร่วมแข่งการประมูล ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นนักลงทุนระดับประเทศที่มีเงินอยู่แล้วและเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มเบียร์ช้าง หรือกลุ่มเบียร์สิงห์ ที่จะเข้ามาประมูล

ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม 5 ดาวรายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มูลค่าโครงการของโรงแรมดาราเทวีในปัจจุบันน่าจะมากกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูราคาประมูลทรัพย์อยู่ที่ราว 1,900 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างถูกมาก

แต่โดยส่วนตัวไม่มีความสนใจซื้อทรัพย์ชิ้นนี้ แม้มีเงินทุนที่จะซื้อได้ ทั้งนี้ มองว่าการทำธุรกิจโรงแรมดาราเทวีอาจทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีสเกล (scale) ใหญ่ มีคอสต์ในการบริหารจัดการค่อนข้างสูงมาก อาจไม่คุ้มทุน

สำหรับโรงแรมดาราเทวีนั้น ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 มีบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด เป็นเจ้าของ เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ มีห้องพัก 123 ห้อง ใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 3,000 ล้านบาท จากการได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องประกาศปิดกิจการชั่วคราวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

จากนั้นได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการในเดือนมิถุนายน 2563 แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ทำให้ต้องประกาศปลดพนักงานและปิดกิจการ เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย โดยมีการยึดทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ดินและโรงแรมดาราเทวีออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้

ต่อมาสำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ด้วยราคาเริ่มต้น 2,116 ล้านบาท หลังเลื่อนการขายมาหลายปี มีผู้ลงทะเบียนและวางเงินประกัน 110 ล้านบาท เข้าร่วมเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไฮไลฟ์แอสเสท จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งยังไม่รับราคา 2,116 ล้านบาท ทำให้ต้องกำหนดวันขายทอดตลาด ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ซึ่งปรับลดราคาลงร้อยละ 10 ตามระเบียบบังคับ กำหนดราคาขายทอดตลาดไว้ที่ราคา 1,904.62 ล้านบาท

โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไฮไลฟ์ แอสเซส จำกัด และบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด หรือ IFEC ซึ่งในการเคาะราคาในที่สุดบริษัท IFEC เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 2,012,620,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นภายในปี 2565 หรือต้นปี 2566 นั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องรอพิจารณาเรื่องการกำหนดราคาประมูล และกำหนดวันเวลาประมูลกันอีกครั้งในเร็ววันนี้