ผู้เลี้ยงใต้โคม่า หมูเถื่อน ถล่ม ทำรายย่อยค้างสต๊อกอื้อ-ขาดทุนอ่วม

หมูเถื่อน

ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยใต้กระอักเจอ 4 เด้ง ถูก “หมูเถื่อน” ตีตลาดหนักสุด ทำราคาหมูหน้าฟาร์มเหลือ 88 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 90 บาทราคาอาหารสัตว์พุ่ง ผวาผู้เลี้ยงล้มอีกระลอก

นายภักดี ชูขาว เจ้าของภักดีฟาร์ม อ.เมือง จ.พัทลุง ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก จำนวน 400 แม่พันธุ์ และกรรมการสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยทั่วภาคใต้นับพันรายกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักมาก

เนื่องจากไม่สามารถขายสุกรที่เลี้ยงได้ ทำให้เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก เนื่องมาจาก 4 สาเหตุหลัก ได้แก่

1.มีการลักลอบนำเข้าสุกรจากต่างประเทศหรือ “หมูเถื่อน” ในรูปหมูกล่องเข้ามาขายราคาถูก

2.ราคาสุกหน้าฟาร์มในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และจีนราคาประมาณ 70 บาท/กก. ทำให้มีการลักลอบเข้ามาทางชายแดน

3.ผู้บริโภคในภาคใต้ไม่มีกำลังซื้อ เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

4.ไทยยังไม่สามารถส่งออกสุกรได้ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยขาดทุนตัวละ 500-1,000 บาท และมีแนวโน้มจะขาดทุนเพิ่มขึ้นถึงตัวละ 1,500 บาท/ตัว เพราะต้องแบกภาระต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าบริหารจัดการ

“หมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาขายราคาถูก ชำแหละเป็นซากแล้วเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40-50 บาท/กก. ทำให้หมูที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ ไม่มีคนมาซื้อ ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงต่อไป เฉพาะฟาร์มของตน

ตอนนี้ขายไม่ได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และแต่ละรายจะอยู่ใกล้เคียงกัน ที่ผ่านมาสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ประกาศราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มวันพระล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ราคา 94 บาท/กก. ลดลงจากวันพระที่ 21 มกราคม 2566 ที่กำหนดราคา 96 บาท/กก. หรือเท่ากับลดลงไป 2.08 บาท แต่ราคาซื้อขายสุกรจริงในพื้นที่เคลื่อนไหวที่ 88 บาท/กก.

ขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย รายเล็กอยู่ที่ 90 บาท/กก. ขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ต้นทุนการเลี้ยงจะต่ำกว่า อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะมีคู่ค้า

นอกจากนี้ การที่สุกรค้างสต๊อกภายในฟาร์มจำนวนมาก เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ เพราะไม่มีรายได้จากฝนตกต่อเนื่อง ยางพารากรีดไม่ได้และราคาไม่ดี ปาล์มน้ำมันราคาตกมาก สำหรับภาพรวมการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด มีผู้เกษตรกร รวมประมาณ 20,000 ราย มีแม่พันธุ์ประมาณ 120,00 ตัว มีผลผลิตกว่า 2,800,000 ตัว/ปี

ขณะที่จังหวัดพัทลุงถือเป็นอันดับ 1 ในการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นอันดับ 4 ของประเทศ มีแม่พันธุ์ 20,000 แม่พันธุ์ มีผลผลิตประมาณกว่า 480,000 ตัว/ปี มีผู้เลี้ยงทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก รวมกว่า 4,000 ราย เดือดร้อนกันหมด”

แหล่งข่าวจากวงการเลี้ยงสุกรทางภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สถานการณ์หมูเถื่อนถือว่าหนักที่สุด จนส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรขายไม่ออกค้างสต๊อกอยู่ปริมาณมาก โดยมีการนำเข้ามาทางเรือเป็นส่วนใหญ่จากประเทศแถบละตินอเมริกา สหภาพยุโรป เพราะเรือสามารถบรรทุกได้ปริมาณมาก

สมทบกับการลักลอบนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้านลักษณะกองทัพมดเข้ามาทางชายแดน โดยทำตลาดค้าขายกันทางออนไลน์

โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก มีการบรรจุกล่องโฟมพร้อมส่ง ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ภายในประเทศขยายการเลี้ยงกันจำนวนมาก แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นกลับมา แต่การบริโภคยังถือว่าต่ำ และประเทศไทยยังส่งออกสุกรไม่ได้ นับตั้งแต่ยอมรับว่าประเทศไทยมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ส่งผลให้สุกรล้นสต๊อกล้นอยู่ในฟาร์มขายไม่ออก

ปัจจัยที่หนักมากที่สุด คือ “หมูเถื่อน” ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกเครื่องใน หัว หาง ซึ่งคนต่างประเทศไม่บริโภค โดยนำมาขายส่งให้ร้านอาหาร และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกชิ้นหมู หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ และตอนนี้มีหมูจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาลักษณะกองทัพมดอีก เชื่อว่าสุกรที่กรมปศุสัตว์จับได้ประมาณ 1 ล้านกก.น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาปีกว่า

เมื่อค้างสต๊อกมากส่งผลให้เพิ่มค่าบริหารจัดการ เรื่องค่าอาหารสุกร ดูแลสุกร สำหรับค่าอาหารวัตถุดิบขึ้นมาทุกตัว เช่น ลูกสุกรรุ่น ที่ซื้อมาขุน ขนาดน้ำหนัก 16 กก./ตัว ที่ผ่านมาราคา 3,700 บาท/ตัว ราคาอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักปรับราคากันสูงมาก

เช่น กากถั่วจากราคา 17-18 บาท/กก. เป็น 23 บาท/กก. ปลายข้าว 650 บาท/กระสอบ ปรับตัวเป็น 720 บาท/กระสอบ ต้องสั่งจากภาคกลาง ปลาป่น 32 บาท/กก. เป็น 40 บาท/กก. ฯลฯ เป็นต้น จึงเป็นภาระให้สุกรที่ค้างสต๊อกจำนวนมาก


“คาดการณ์ว่าผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็กจะต้องล้มระเนระนาดลงอีก ในอนาคตจะกระทบต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่จากที่ล้มกันมาแล้วจากการระบาดของโรค AFS