“พาณิชย์” รับมือผลไม้ทะลัก ดันเป้าส่งออกทะลุ 4 ล้านตัน

มังคุด

พาณิชย์-เกษตรฯ ตั้งรับฤดูผลไม้ทะลัก ปี’66 เฉียด 7 ล้านตัน งัด 22 มาตรการสกัดราคาร่วง ตั้งเป้าดันส่งออก 4.4 ล้านตัน ด้านกรมวิชาการฯเข้มตรวจล้ง 100% ปราบทุเรียนอ่อน หวังดันยอดส่งออกทะลุ 1 แสนล้าน ด้านล้งร่วมมือ ประกาศหยุดรับซื้อทุเรียนอ่อน พร้อมปรับราคาทุเรียนอ่อนลูกละ 500 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ ปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการสำหรับดูแลผลไม้ปี 2566 ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6,780,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3% จากปีก่อน โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4,440,000 ตัน เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน

โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินมาตรการดูแลผลไม้เชิงรุก ในปี 2566 แบ่งเป็น 4 ด้าน 22 มาตรการ ได้แก่ แผนการผลิต แผนการตลาดในประเทศ แผนการตลาดต่างประเทศ และแผนดูแลด้านกฎหมาย ส่วน 22 มาตรการ ประกอบด้วย 1) เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง 2) ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 100,000 ตัน 3) ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต 3 บาท/กก. ปริมาณ 90,000 ตัน

4) สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน 5) ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน 6) รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน fruit festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 42,000 ตัน

7) สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 300,000 กล่อง หรือ 3,000 ตัน 8) อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงอบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย 9) ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน 10) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพลช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยก และขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน

11) เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลส์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ 12) ส่งเสริมการแปรรูป ช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก 13) เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน 14) เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้ กก.ละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน 15) เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่

16) จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping 17) ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD 18) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น country brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย 19) จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค 20) มุ่งเจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า 21) ตั้งวอรูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงาน แก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV และ 22) ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดรับซื้อ

ตั้งเป้าส่งออกทุเรียนแสนล้าน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้กระทรวงตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ 100,000 ล้านบาท โดยได้ลงพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกหลายจังหวัด ทั้งจันทบุรี ตราด และด่านตรวจสอบพืช จ.มุกดาหาร นครพนม ซึ่งมีการส่งออกไม่น้อยกว่าด่านเชียงของ-เชียงราย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงการตัดทุเรียนหมอนทอง ที่มีกำหนดตัดลอตแรกวันที่ 15 เม.ย. 2566 โดยกำชับให้เกษตรกรห้ามตัดทุเรียนอ่อน ให้ตัดทุเรียนตามกำหนดเก็บเกี่ยวของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด ในแนวทาง 3 ประสาน ทั้งเกษตรกร ล้ง มือตัด โดยมีการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียน และจัดหลักสูตรอบรม

ช่วงนี้จะตรวจสอบล้งทั้ง 100% หากตรวจพบทุเรียนอ่อนจากล้งใด จะถูกพักใบอนุญาตประกอบกิจการโรงบรรจุ (DOA) 7 วัน ขณะที่ล้งให้ความร่วมมือติดป้ายไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน และหากตรวจสอบพบทุเรียนอ่อนจะมีการปรับลูกละ 500 บาท

พร้อมทั้งยังดำเนินมาตรการจัดระเบียบล้ง โดยแบ่งกลุ่มล้งเป็น 3 สีคือ สีเขียว สีเหลือ และสีแดง สีเขียวหมายถึงติดป้ายไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน มีการขึ้นทะเบียนมือตัด และสนับสนุนล้งที่คนไทยถือหุ้น 100% เพื่อให้มีพริวิเลจในการแข่งมากขึ้น ส่วนล้งสีเหลืองคือล้งที่มีแนวทางในการปรับตัว และกรมก็จะเข้าไปให้คำแนะนำ ขณะที่ล้งสีแดง คือล้งที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการลงโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาต 7 วัน และถ้ายังไม่มีสำแดงแหล่งที่มา หรือปรับปรุงการทำงานก็จะเพิกถอนใบ DOA ทั้งยังได้กำชับห้ามไม่ให้มีการปล่อยเช่าใบอนุญาต DOA ด้วย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก ส่วนการตรวจปิดตู้ ได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบทุเรียนจาก 30 คน เป็น 60 คน ด้วยการดึงบุคลากรจากกรมปศุสัตว์ กรมประมง เข้ามาช่วย และขยายเวลาตรวจจาก 20.00 น. เป็น 22.00 น.

สำหรับสถานการณ์ตู้ส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน (ภาคตะวันออก) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-18 มี.ค. 2566 รวมทุกด่าน 744 ตู้ แบ่งเป็นทุเรียน 699 ตู้ มังคุด 45 ตู้ ส่วนสถานการณ์ราคาผลผลิต จากข้อมูลกรมการค้าภายในระบุว่า กระทรวงพาณิชย์คาดหวังว่าการดำเนินมาตรการเหล่านี้จะช่วยยกระดับราคาผลไม้ในปีนี้ไม่ให้ตกต่ำ หลังจากปี 2565 ที่ดำเนินมาตรการ 18 มาตรการ ส่งผลให้ราคาผลไม้เกือบทุกชนิดเฉลี่ยสูงขึ้น 44% เช่น ทุเรียนเกรดส่งออกราคาเฉลี่ย 142.50 บาท/กก. ลำไยช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาท/กก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออกราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. ลองกองเกรดคละราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก.

มังคุดภาคตะวันออกวูบ 50%

นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ อุปนายกสมาคมมังคุดแห่งประเทศไทย และผู้จัดการด้านการตลาดวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ปีนี้ผลผลิตโดยเฉลี่ยลดไปถึง 50% จากสภาพอากาศแปรปรวน ดังนั้น ราคาอาจจะไม่ตกต่ำมากเหมือนปีก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคามังคุดไม่เป็นไปตามกลไลตลาด ปีนี้จึงได้เสนอสมาคมมังคุดแห่งประเทศไทย ให้โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่รับซื้อทุกแห่งปิดป้ายแสดงราคารับซื้อมังคุด โดยแบ่งเกรดแยกราคาให้ชัดเจนทุกวันตั้งแต่เช้า เช่น ผิวมันสวย ลาย กาก รวม ตกไซซ์ และมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อให้ชาวสวนได้ตรวจสอบราคาได้

“การรับซื้อมีทั้งพ่อค้ารายย่อย พ่อค้าคนกลาง โรงคัดบรรจุที่รับจ้างแพ็ก และผู้ส่งออก ชาวสวนสามารถจะเช็กราคาได้ทุกวัน พ่อค้าจะอ้างเหตุต่าง ๆ เพื่อกดราคาไม่ได้ เพื่อความเป็นธรรมของล้งและชาวสวน” นายพิพัฒน์กล่าว

นายมณฑล ปริวัฒน์ ประธานบริษัท อรษา ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกมังคุดไทยแบรนด์ “มงกุฎ” เปิดเผยว่า ปีนี้ผลผลิตมังคุดน่าจะมีปริมาณลดลงจากปีก่อนเฉลี่ย 30% จากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ช่วงต้นฤดูปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ล้งเปิดซื้อ กก.ละ 300-500 บาท ช่วงเดือน มี.ค.เริ่มมีมังคุดมากขึ้น ถึงกลางเดือน มี.ค.มังคุดคุณภาพเกรดเอ หูเขียว ผิวมัน อยู่ที่ กก.ละ 220-230 บาท การคัดเกรดมังคุดขายจะทำให้ได้ราคาดี และส่งผลถึงตลาดปลายทางราคาสูงขึ้นด้วย ถ้าเทรวมขายราคา กก.ละ 150-170 บาท ช่วงที่ผลผลิตออกมากราคาน่าจะลดลงตามกลไลของตลาดและคุณภาพ แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่ากก. 100 บาท เพราะปีนี้ผลผลิตมีน้อย


ด้านนายธนกฤต เขียวขจี ประธานกลุ่มมังคุดดงกลาง จ.ตราด กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผลผลิตในสวนจะลดลงกันมาก 40-50% เพราะสภาพอากาศ แต่ยอมรับว่าต้นฤดูราคามังคุดปีนี้ดีมาก เดือน พ.ค.-มิ.ย. ช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตออกมาก ถ้าไม่ตรงช่วงฤดูฝนผลผลิตจะมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังวิตกกังวลเรื่องแรงงานเก็บมังคุดที่ขาดแคลน หายาก โดยเฉพาะในช่วงที่ทุเรียนออก