ชาวเชียงใหม่สุดทน ฝุ่น PM 2.5 จี้รัฐแก้วิกฤต

ชาวเชียงใหม่สุดทนฝุ่น PM 2.5 รวมพลังลานท่าแพ ร้องรัฐเร่งแก้วิกฤต

วันที่ 27 มีนาคม 2566 สภาลมหายใจเชียงใหม่ รายงานคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่าค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ณ เวลา 17.00 น. ภาพรวมทั้งจังหวัดเย็นนี้อันดับ 1 ยังคงอยู่ในระดับสีม่วงเข้ม มีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงมากถึง 277 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) คุณภาพอากาศอยู่ในขั้นอันตราย

ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อันดับ 1 มีจำนวนฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงถึง 102 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) คุณภาพอากาศไม่ดีต่อกลุ่มเสี่ยง

โดยเย็นวันนี้ เวลา 17.00 น. สภาลมหายใจและประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมกันออกมาแสดงพลัง ณ ลานท่าแพ เพื่อส่งเสียงถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ปัญหา เพื่อให้ตระหนักถึงภาวะวิกฤต และการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งในช่วงวิกฤต และในช่วงการแก้ที่สาเหตุ ไฟจากการเผาไหม้ทั้งปวง

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือเปิดเผยว่า แม้เชียงใหม่จะมีจุดเผาไหม้ (hot spot) ไม่มาก แต่คุณภาพอากาศขึ้นอันดับ 1 ของโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหนักมาก ซึ่งการติดตามจากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ สรุปได้ว่าเกิดจากการเผาไหม้ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

โดยในประเทศจุดเผาไหม้เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า/เขตป่าอุทยาน) อันดับ 1 เขตป่าสงวนแห่งชาติอันดับ 2 รวมแล้วราว 90% ของพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด ส่วนการเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้านมาจากแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อจากบริษัทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จากประเทศไทย

นายชัชวาลย์กล่าวต่อว่า เดือนมีนาคมเป็นช่วงพีกสุดของทุกปี และสถานการณ์จะดีขึ้นหลังสงกรานต์ ดังนั้น จึงขอเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมสรุปบทเรียนครั้งใหญ่ร่วมกัน ที่ไม่มองแค่ปรากฏการณ์แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ตั้งคำถามให้ไปถึงราก ถึงโคน ถึงแก่นของสาเหตุปัญหา ทำไมจุดเผาไหม้หนักในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯ มีเหตุ ปัจจัยอะไร ทำไมชาวบ้านถึงเผา มีเหตุ ปัจจัยอะไร ทำไมจึงควบคุมไม่ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร ขัดแย้งเพราะเหตุใด ร่วมมือกันได้เพราะอะไร การบริหารจัดการแก้ปัญหาของรัฐบาลเป็นอย่างไร ทำไมรัฐไม่มีมาตรการกับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทำไมจึงแก้ไม่ได้ ทั้งที่ปัญหาเกิดหนักเหมือนเดิมทุกปี มาเป็นระยะเวลา 16 ปีแล้ว และอะไรคืออุปสรรค ข้อจำกัด

หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการอย่างไร ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง อย่าให้ความทุกข์หนักในปีนี้ผ่านเลยไป พอฝนตก ฟ้าใสก็ไม่มีใครพูดถึง มาพูดกันอีกทีก็ฝุ่นตลบอบอวลอีกครั้ง