เชียงรายวิกฤต กรมอนามัยเตือน PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน 32 เท่า

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดน
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงถึง 480 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าแนะนำของ WHO ถึง 32 เท่า

วันที่ 26 มีนาคม 2566 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 480 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นอกจากนี้ ยังพบอีก 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ หนองคาย นครพนม ยังมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (>91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ซึ่งสัปดาห์นี้ พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้ง การเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน

โดยพบจุดความร้อนสะสมในเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ระดับค่าฝุ่นละอองดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น แสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น

และหากได้รับในปริมาณมากในระยะยาว ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย เข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งในระยะยาว

สำหรับข้อมูลจากการเฝ้าระวังอาการตนเองของประชาชน ผ่านระบบ 4HealthPM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม 2566 พบว่า ประชาชนมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นถึงร้อยละ 73.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 5-14 ปี และผู้สูงอายุ 

กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเอง โดย 

1) ลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 

2) งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ 

3) อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้อง

ปลอดฝุ่น 

4) ดูแลสุขภาพเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว สังเกตอาการ หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์ 

5) งดการเผา และช่วยสอดส่อง ป้องกันไม่ให้มีการเผาในชุมชน