คนเชียงรายร้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันพิษ

คนเชียงรายร้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันพิษ

คนเชียงรายร้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันพิษ ด้านผู้ว่าฯ สสจ.เชียงรายเร่งทำ 3 มาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมรณรงค์ประชาชนดูแลป้องกันตัวเอง

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า วานนี้ (27 มี.ค. 66) ประชาชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รวมตัวกันยกป้ายประท้วงหน้าที่ว่าการอำเภอ ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษจากการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามแดนมา โดยต้องการให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อนำเงินงบประมาณออกมาช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าเย็นวานนี้ (27 มี.ค. 66) ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายบุญมี แก้วจันทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย

พร้อมด้วยนายณรงค์ ลือชา ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และนายสำราญ เชื้อเมืองพาน หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ร่วมการประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่อำเภอแม่สาย

โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการอำเภอแม่สาย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมสาธารณสุขอำเภอแม่สาย และโรงพยาบาลแม่สาย ได้รายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินงานในพื้นที่ตาม 3 มาตรการ 10 กิจกรรม มาตรการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรการจัดบริการแพทย์และสาธารณสุข การดำเนินกิจกรรม อสม.เคาะประตูบ้าน แนะนำการป้องกันตนเอง และประชาสัมพันธ์ประกาศจังหวัดเชียงราย ห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดเด็ดขาด

พร้อมทั้งร่วมหารือการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในอำเภอแม่สาย การให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ได้รับผลกระทบ การจัดทำเครื่องฟอกอากาศ DIY การเน้นย้ำรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การป้องกันและการดูแลสุขภาพของประชาชน

การสำรวจกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เพื่อให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพในสถานการณ์ PM 2.5 การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ค่าฝุ่นยังมากกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้ประชาชนจังหวัดเชียงรายหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์